x close

อุ่นเครื่องออสการ์กับ 19 เกร็ดน่ารู้จาก How to Train Your Dragon

อุ่นเครื่องออสการ์กับ 19 เกร็ดน่ารู้จาก How to Train Your Dragon
อุ่นเครื่องออสการ์กับ 19 เกร็ดน่ารู้จาก How to Train Your Dragon


ตัวอย่าง 5 นาทีแรกของ How to Train Your Dragon 2


ตัวอย่าง How to Train Your Dragon 2

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Imgur

          ชม 19 เกร็ดน่ารู้จาก How to Train Your Dragon ผู้เข้าชิงรางวัลแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 87

          ความสำเร็จของแอนิเมชั่นเรื่อง How to Train Your Dragon นอกจากจะวัดได้จากผลตอบรับอันน่าพอใจแล้ว การคว้ารางวัลจากเวทีต่าง ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่การันตีว่า ผลงานชิ้นนี้เป็นแอนิเมชั่นน้ำดีอีกเรื่องหนึ่งของโลกแผ่นฟิล์ม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ How to Train Your Dragon 2 ก็เพิ่งคว้ารางวัลสาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมบนเวที Annie Awards มาหมาด ๆ ซึ่งว่ากันว่าผู้ชนะรางวัลดังกล่าวมีสิทธิ์สูงมากที่จะคว้าตุ๊กตาออสการ์ไปนอนกอดเช่นกัน และเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่ทราบผลรางวัลออสการ์ 2015 กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวม 19 เกร็ดน่ารู้ของ How to Train Your Dragon ทั้ง 2 ภาค จากเว็บไซต์ Imgur มาให้ดูกันสักหน่อยว่า อะไรหนอที่ทำให้เราตกหลุมรักแอนิเมชั่นเรื่องนี้จนหมดใจ เราไปดูกันเลยว่ามีเรื่องอะไรที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนบ้าง



          เขี้ยวกุด (Toothless) คือตัวละครแรกที่เผยโฉมในหนังเรื่องนี้ โดยเงาของมันปรากฏในช่วงอินโทรโลโก้ของค่าย DreamWorks



          ในหนังสืออธิบายรูปลักษณ์ของเขี้ยวกุด เอาไว้ว่า เป็นมังกรที่มีขนาดเล็กเท่าอีกัวน่าหรือคล้ายกับจิ๋วจิ้ว เทอร์ริเบิล เทอร์เรอร์ แต่ภายหลังผู้กำกับตัดสินใจเปลี่ยนให้ตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้ ฮิคคัพ สามารถปีนขึ้นไปอยู่บนตัวของมันได้



          เสียงที่ใช้ประกอบการเคลื่อนไหวของมังกรเขี้ยวกุดได้รับแรงบันดาลใจจากแมว สุนัข และม้า



          สำหรับใครที่สงสัยว่าทำไมเขี้ยวกุดจึงมีหน้าตาคล้ายกับ ลีโล จากเรื่อง Lilo & Stitch นั่นเป็นเพราะว่าผู้กำกับของทั้งสองเรื่องคือทีมเดียวกัน



          เพื่อให้หางของเขี้ยวกุดเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง หนึ่งในทีมสร้างแอนิเมชั่นนำลูกบอลที่ช่วยบันทึกการเคลื่อนไหวไปติดไว้ที่หางแมวของเขาเอง ผลที่ได้คือหางของคาแรคเตอร์ที่กวัดแกว่งได้อย่างลื่นไหล



          ทีมสร้างแอนิเมชั่นต้องเข้าเรียนหลักสูตรการต่อสู้เพื่อเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายของคาแรคเตอร์ต่าง ๆ จนท้ายที่สุดพวกเขาได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนแห่งนี้จริง ๆ




          ถึงแม้ว่าฮิคคัพจะประกาศกร้าวท่ามกลางไวกิ้งคนอื่น ๆ ว่าเขาไม่สามารถฆ่ามังกรได้ แต่ตลอดทั้งเรื่องเขากลับเป็นคนเดียวที่ลงมือสังหารมังกรให้เราได้เห็น



          ในเรื่องนี้มีส่วนประกอบของหนวดและขนสัตว์ปรากฏมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างภาพเหล่านี้ในรูปแบบแอนิเมชั่นย่อมใช้เวลามาก รู้หรือไม่ว่าเฉพาะหนวดของสโตอิกเพียงอย่างเดียวต้องใช้เวลาสร้างนับเดือนเลยทีเดียว



          เสียง ของจิ๋วจิ้ว เทอร์ริเบิล เทอร์เรอร์ คือเสียงของสุนัขชิวาว่าตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ปาโก้ โดยผู้ออกแบบเสียงติดต่อไปยังเจ้าของสุนัขตัวนี้หลังได้ชมวิดีโอของมันบนอินเทอร์เน็ต และท้ายที่สุดเจ้าปาโก้ได้รับค่าจ้าง 100 ดอลลาร์สหรัฐ



          ดนตรีประกอบของ How to Train Your Dragon ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม โดยเพลงที่ชื่อว่า Romantic Flight ถูกบรรเลงบนเวทีในช่วงที่ เจมี่ ฟ็อกซ์ (Jamie Foxx) และเจสสิก้า เบล (Jessica Biel) กำลังจะประกาศรางวัลสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมในปีนั้น



          เพื่อให้ How to Train Your Dragon มีความยิ่งใหญ่และจับใจคนดูยิ่งขึ้น ทีมผู้สร้างได้ทาบทาม โรเจอร์ เดกินส์ (Roger Deakins) ผู้กำกับภาพที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 12 ครั้ง มาช่วยดูแลเรื่องการสร้างภาพให้สมจริง



          ผู้ชมรอบทดลองกลุ่มหนึ่งเคยแสดงความเห็นว่าประทับใจบทสรุปของหนังเรื่องนี้ โดยพวกเขาแนะนำให้ผู้กำกับเก็บไอเดียที่ฮิคคัพต้องขาขาดเอาไว้ โดนผู้ชมวัยเด็กคนหนึ่งให้ความเห็นว่า "น่าเศร้าเหมือนกันนะเพราะฮิคคัพต้องสูญเสียบางอย่างแต่เขาก็ได้อะไรกลับมามากเหมือนกัน"




          คาแรคเตอร์ แอสทริด ไม่เคยปรากฏในหนังสือ เธอถูกสร้างขึ้นเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ



          หากอ้างตามเวอร์ชั่นหนังสือแท้จริงแล้วมังกรมีภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นของตัวเอง แต่ทีมสร้างหนังต้องการให้พวกมันสื่อสารด้วยภาษากายเพราะใกล้เคียงความเป็นสัตว์มากกว่า



          ฉากที่เขี้ยวกุดลืมตาหลังจากกล้องแพนไปที่ปีกของมัน เป็นความผิดพลาดในขั้นตอนการผลิตที่ทีมผู้สร้างตั้งใจเก็บเอาไว้ เพราะมันดูหลอนแถมเข้าท่าดีอีกต่างหาก



          ตัวอักษรที่ปรากฏในคู่มือการเลี้ยงมังกร แท้จริงแล้วเป็นพยัญชนะภาษาอังกฤษที่ถูกเข้ารหัสเป็นอักษรรูน



          เมื่อใดก็ตามที่มังกรกำลังจะพ่นไฟ พวกมันจะรวบรวมก๊าซในกระเพาะก่อนพ่นเปลวเพลิงออกมา มีเพียงมังกร 2 หัว ซิปเปิลแบ็ค ตัวเดียวเท่านั้นที่ใช้หัวข้างหนึ่งปล่อยก๊าซส่วนอีกข้างใช้พ่นไฟ



          ลองสังเกตให้ดีสิ ในฉากที่เขี้ยวกุดนำฮิคคัพและแอสทริดไปยังรังของมังกร ใต้อุ้งเท้าของเจ้ามอนทรัส ไนท์แมร์ คือฮิปโปกลอเรียจากเรื่อง Madagascar



          ภาพ 3 มิติในฉากโบยบินของ How to Train Your Dragon ได้รับคำชมว่ายอดเยี่ยมกว่าเรื่อง Avatar ซึ่งเข้าฉายในปีเดียวกัน

          สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ How to Train Your Dragon ก็เตรียมตัวกันไว้ให้ดี เพราะในปี 2018 แอนิเมชั่นเรื่องนี้จะกลับมาอีกครั้งในภาคต่อ How to Train Your Dragon 3 โดยได้ทีมงานชุดเดิมจากทั้งสองภาคมาสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพเช่นเดิม โดยกำหนดเข้าฉายอย่างเป็นทางการถูกวางไว้วันที่ 29 มิถุนายน 2018
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุ่นเครื่องออสการ์กับ 19 เกร็ดน่ารู้จาก How to Train Your Dragon อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10:10:58 2,676 อ่าน
TOP