เจาะ 5 ทัศนะชวนคิด จากหนังดัง "ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ" เมื่อหนังจบแต่ความคิดยังไม่จบ เพราะทุกการเลือก คือการแลก
เรียกว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างกระแสฮือฮาตั้งแต่ก่อนเข้าฉาย ตลอดจนช่วงหลังจากเข้าฉายแล้วจริง ๆ สำหรับ "ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ" ของค่าย GTH ที่สร้างจุดหักเหของอารมณ์ให้ผู้ชมจำนวนมาก ด้วยทีเซอร์ที่ดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์รักกุ๊กกิ๊กระหว่างหนุ่มฟรีแลนซ์กับคุณหมอสาว แต่เนื้อหาโดยแท้ของภาพยนตร์กลับมีความหนัก จากการสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของ "ฟรีแลนซ์" ที่อาจไม่ได้สวยหรู เต็มไปด้วยอิสระจากการเป็นนายตัวเองดังที่หลายคนคาด
ทั้งยังตามมาด้วยสิ่งแลกเปลี่ยนสารพัดสำหรับทุกตัวเลือกในชีวิต ซึ่งแม้ภาพยนตร์จะจบลง แต่ความคิดของผู้ชมกลับไม่จบลงเท่านั้น สิ่งที่ทิ้งอยู่ในใจของผู้ชมก็คือสารพัดคำถามที่ต้องใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน ดังที่ "หมอมีฟ้า" แห่งเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาเผยบทวิเคราะห์ หลังได้รับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558
"#ทุกการเลือก_คือการแลก
ตอนแรกไม่กะจะดูเพราะตัวอย่างหนัง #Freelancethemovie ทำให้คิดว่าเป็นหนังกุ๊กกิ๊ก เอาเข้าจริงเป็นหนังที่ดูจบแล้วความรู้สึกไม่จบ มีอะไรหลายอย่างชวนให้ตั้งคำถามและใคร่ครวญ จนต้องเขียนบทความนี้ออกมา
- - - ทุกคนคงรู้พล็อตเรื่องและตัวละครหลัก ๆ (ที่มีอยู่ไม่กี่คน) กันอยู่แล้วเนอะ แต่หากใครยังไม่ได้ดู ถัดจากนี้ spoil จ้ะ (ยาวด้วย ขอเตือน) - - -
1) ชีวิตฟรีแลนซ์ มันไม่ได้ชิล สบาย เป็นเจ้านายตัวเอง อย่างที่หลาย ๆ คนวาดภาพหรอกนะ
ไม่มีเวลาเข้างาน-เลิกงานก็จริง แต่มี "deadline" มาแทน ซึ่งบ่อยครั้งผุดขึ้นมาอย่างกะทันหัน ไม่มีเจ้านาย มีแต่ลูกค้า ซึ่งสำหรับคนที่ทำงานด้านการบริการ ลูกค้าก็คือพระเจ้า การไม่รับงาน ๆ หนึ่งอาจหมายถึงโอกาสอื่น ๆ ที่จะหลุดลอยไป
ดังนั้นหากไม่เก๋าจริง ใครจะกล้าปฏิเสธ เมื่อไม่อาจแน่ใจได้ว่าเดือนหน้าปฏิทินงานจะแน่น...หรือว่างสักแค่ไหน ความรับผิดชอบคือ "จุดขาย" และคือ "ค่าใช้จ่าย" ของการนั่งทำงานที่ไหนที่ได้ หัวฟูหน้าสดได้ตามใจอยาก มันก็เลยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่ยุ่นต้องทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ใครจะให้ทำอะไรก็รับไว้หมด ในเมื่อสังคมปัจจุบัน เงินคือตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
การเป็นฟรีแลนซ์ จะทำให้เรามีอิสระมากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนจริง ๆ หรือ ... หรือเราแค่จะก้าวออกจากเล้าไปเข้ากรงเท่านั้น ?
อิสระที่แท้จริงคืออะไร?
2) ชีวิตมิติเดียว : คุณค่าของตัวตนแปรผันตรงกับผลงาน
แม้ยุ่นจะรู้สึกว่าเขามีความสุขกับชีวิตแบบนี้ดี แต่ดูเหมือนว่าชีวิตจะไม่ได้เห็นด้วยกับเขานัก และผื่นคัน ก็คือวิธีที่ชีวิตใช้เป็นสัญญาณเรียกร้องขอความสมดุลให้กับร่างกายที่จิตใจของเขาอาศัยอยู่
สำหรับยุ่น งานไม่ใช่แค่วิธีการหารายได้เพื่อยังชีพ แต่คือเครื่องยืนยันการมีอยู่ของเขา ผลงานที่เนี้ยบและทันเวลา คือเกณฑ์พิสูจน์คุณค่าของตัวเอง ดังนั้นเมื่อ "ผลงาน" ไม่เป็นไปอย่างที่คิด "ตัวตน" ก็สั่นคลอน ชีวิตที่มีมิติเดียวแทบจะพังทลาย เหมือนปราสาททรายที่โดนคลื่นลูกใหม่อย่างเจิดไล่ซัด
3) เราอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง เวลา-สุขภาพ-เงิน กันมาบ้าง
ตอนเป็นเด็ก เรามีเวลา มีสุขภาพที่ดี-แต่ไม่มีเงิน
พอเป็นผู้ใหญ่ สามารถหาเงินได้ สุขภาพยังดี-ก็ไม่มีเวลา
ครั้นแก่ชรา มีเงินเก็บ มีเวลา-สุขภาพก็ไม่เอื้ออำนวยเสียแล้ว
ยุ่นยังไม่แก่ แต่ร่างกายกำลังพัง ตลอดทั้งเรื่อง เราแทบไม่เห็นร่องรอยของความสุขของเขา ยิ้มบาง ๆ ปรากฏเพียงชั่วแวบ ... และมันเป็นตอนที่ยุ่นนั่งเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากทอดสายตามองพระอาทิตย์อยู่ริมทะเล
ไม่ใช่ตอนทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย
4) เจ๋-นาฬิกาที่มีชีวิตอีกเรือน และคนคนเดียวที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนสนิทของยุ่น
แม้เจ๋จะคอยรับงานให้ จี้เตือน deadline และตรวจสอบคุณภาพงานของเขาตลอดเวลา จนดูเหมือนว่าชีวิตของคนสองคนนี้คล้ายกันมาก
แต่เมื่อตั้งท้อง เจ๋ก็เตรียมตัวแต่งงานแล้วหยุดทำงานตามที่สามีขอ ในขณะที่ยุ่นโวยวายว่าท้องก็ทำงานได้นี่ เจ๋บอกว่า เธอแค่ไม่ได้ "เลือก" งาน อย่างที่ยุ่นเลือก
ภายใต้ความโมโหของยุ่น มันคือความรู้สึกเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว ชีวิตมิติเดียวของเขาที่ตอนนี้ว่างงาน มันก็ไม่มั่นคงพออยู่แล้ว นี่เขากำลังจะสูญเสียเพื่อนสนิทที่มีอยู่คนเดียวไปอีก
หากเขาต้องการคนช่วยงาน คนอื่นก็คงไม่ต่างกัน แต่ในแง่มุมของเพื่อน ไม่มีใครแทนที่ใครได้ ดังนั้น มันจึงไม่มี "เจ๋2" อย่างที่อาจจะมี "ยุ่น2" ได้
5) ตอนที่ความตายเข้ามาสบตา คือตอนที่ยุ่นได้ทบทวนว่า เขาพลาดอะไรไปบ้าง หรือพูดอีกอย่าง อะไรกันแน่ที่สำคัญ
คนเรามักจะมองเห็นสิ่งเหล่านั้นก็ต่อเมื่อชีวิตจะปลิดปลิว หมออิมเคยบอกกับยุ่นว่า คนที่ชอบบอกว่าตัวเองไม่กลัวความตาย มักจะเป็นคนที่ไม่เคยมีใครให้คิดถึง ตอนนั้นเขาคงไม่ได้เข้าใจคำพูดนี้เท่าไรนัก
เราจะดูแลตัวเองมากขึ้น เมื่อเรารู้ว่าการอยู่ การเจ็บ การตายของเรา มีความสำคัญต่อชีวิตอื่น มีความหมายต่อหัวใจบางดวง ตลอดเวลากว่า 10 วันที่ไม่ได้หลับได้นอน สภาพร่างกายของยุ่นไม่ต่างจากภาพคนที่เขาตกแต่ง ... รูปหลัง ๆ มีลายรอยแตกกะเทาะมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตอนแรกที่ลงไปกองกับพื้น ยุ่นยังคิดว่า ในงานศพ อยากให้มีวง TK มาร้อง ทุกคนไม่ต้องเศร้าไปนะ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ
ใช่ การตายอาจจะไม่ได้ชวนโศกเศร้าเท่าไร แต่เก้าอี้ว่างมากมายในงานศพนั่นต่างหากที่น่าใจหาย
เมื่อผู้มาร่วมงาน ประกอบด้วย
เจ๋ - มนุษย์คนเดียวที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นเพื่อนสนิท
ไก่ - พนักงาน 7-11 สาขาที่ยุ่นไปซื้ออาหารประทังชีวิตบ่อย ๆ..คนขายของที่กลายมาเป็นเพื่อนโดยปริยาย
พงศธร - เพื่อนคนนึงที่มาด้วยสีหน้ามึน ๆ
แม่ - ผู้มีตัวตนอย่างพร่าเลือน ไม่ต่างจากรูปถ่ายซีด ๆ ถลอก ๆ ใบนั้น
และหมออิม - คนที่ยุ่นจะได้เจอเมื่อมีนัดตรวจโรค
ความสำเร็จนั้นหอมหวาน แต่มันจะยังน่าไขว่คว้าขนาดนั้นไหม หากได้มาแล้วมองไปไม่เห็นใครเลยที่จะร่วมดีใจไปด้วย ? ถ้าหากเราเป็นอะไรไป แล้วแทบจะไม่มีใครรู้สึกใจหาย ?
"นี่เหรอภาพสุดท้าย ... ไม่เห็นสวยเลย"
ยุ่นนอนนิ่ง มองขยะเกลื่อนพื้นห้อง
ยุ่นเป็นแค่ตัวอย่างของคนคนหนึ่ง ที่ชีวิตห่างไกลจากคำว่าสมดุล ใคร ๆ ก็เป็นแบบนี้ได้ ไม่ว่าอาชีพไหน เราไม่อาจจะได้ทุกอย่าง ในเวลาเดียวกัน เราไม่อาจจะได้ทุกอย่าง โดยไม่เสียอะไรไป
ทุกการ "เลือก" คือการ "แลก"
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุ่น อาจเป็นตอนที่เขาเรียนรู้ แล้วจึงเลือกที่จะปฏิเสธพี่เป้งด้วยการบอกว่า "ผมจะนอน"
#หมอมีฟ้า "
ภาพจาก GTH
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย