เปิดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เบื้องหลัง The Martian พร้อมเบื้องหลังการถ่ายทำที่คุณอาจคาดไม่ถึง
ถือเป็นหนังไซไฟที่น่าจับตาที่สุดของปีเลยทีเดียวสำหรับ The Martian ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ที่สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ แอนดี้ เวียร์ (Andy Weir) และถ้าใครที่ได้ชมหนังเรื่องนี้ก็น่าจะมีคำถามคล้ายกันว่า เหตุการณ์ในหนังมีความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณไปพบกับคำตอบที่รวบรวมจากเว็บไซต์ IMDb, The Washington Post และ IFLScience พร้อมรายละเอียดการถ่ายทำฉากต่าง ๆ ที่บอกได้เลยว่าหนักพอสมควร ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างที่คิดไว้หรือเปล่าก็ไปดูกันเลย
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภารกิจบนดาวอังคาร
เวลาบนดาวอังคารยาวนานถึง 24 ชั่วโมง 37 นาทีต่อหนึ่งวัน และมีจำนวน 687 วันในหนึ่งปี ซึ่งด้วยระยะทางที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวดาวอังคารจึงลดต่ำถึง -63 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกอยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามแรงโน้มถ่วงบนดาวอังคารคิดเป็น 38% ของโลก ดังนั้นหากคุณมีน้ำหนักพื้นโลก 100 กิโลกรัม แต่เมื่ออยู่บนดาวอังคารคุณจะเหลือน้ำหนักเพียง 38 กิโลกรัม
ภารกิจเดินทางสู่ดาวอังคารครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1960 เมื่อสหภาพโซเวียตส่งยานที่ชื่อว่า Korabl 4 หรือ Marsnik 1 แต่ไม่สามารถเดินทางพ้นวงโคจรของโลกได้ หลังจากนั้นในปี 1964 สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จด้วยการส่งยานที่ชื่อว่า Mariner 4 เดินทางผ่านดาวอังคารและส่งภาพกลับมายังโลกได้ 21 รูป
ภาพ Mariner 4 จาก NASA
ต้นเหตุของเรื่องราวใน The Martian เกิดจากพายุฝุ่นขนาดใหญ่ที่ซัด มาร์ค วัตนีย์ จนถูกทิ้งบนดาวอังคารเพียงลำพัง ซึ่งในความเห็นของ เดฟ ลาเวรี่ (Dave Lavery) ที่ปรึกษาด้านข้อมูลจาก NASA มองว่าพายุฝุ่นบนดาวอังคารเกิดขึ้นได้จริงแต่ไม่รุนแรงขนาดนั้น เพราะความกดอากาศปริมาณต่ำจะทำให้ลมมีความเร็วในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายวัตถุขนาดใหญ่แบบในหนังได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามผู้แต่งหนังสืออย่าง แอนดี้ เวียร์ ยอมรับว่า ความรุนแรงของพายุถูกยกระดับเพื่อสร้างพล็อตเรื่องให้น่าสนใจขึ้นเท่านั้น
หลังระบบการสื่อสารถูกตัดขาดจากโลกอย่างสิ้นเชิง มาร์ค วัตนีย์ ค้นพบยาน Pathfinder และซ่อมแซมจนสามารถติดต่อกับโลกได้ตามเดิม ซึ่งในทางเทคนิคแล้ววิธีการของเขาสามารถทำได้ เพราะหากอ้างอิงตามเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ สาเหตุที่ยานดังกล่าวหยุดทำงานตั้งแต่ปี 1997 เป็นเพราะแบตเตอรี่หมด ดังนั้นหากเขาสามารถหาพลังงานสำรองมาทดแทนได้ (พลังงานแสงอาทิตย์) เครื่องมือดังกล่าวจะกลับมาใช้งานได้ตามเดิมอย่างแน่นอน
อากาศที่นักบินอวกาศในหนังใช้หายใจ เกิดจากเครื่องมือที่สกัดออกซิเจนออกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นจริงในภารกิจ Mars 2020 โดยแผนการของ NASA คือการสร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า MOXIE ที่จะเปลี่ยนบรรยากาศบนดาวอังคารให้กลายเป็นออกซิเจนสำหรับมนุษย์ ซึ่งคาดว่า NASA จะทดสอบความเป็นไปได้ก่อนรองรับผู้สำรวจราวปี 2030
ภาพจาก NASA
กว่าจะเป็นหนังเรื่อง The Martian
หนังเรื่องนี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจาก NASA ที่รู้จักหนังสือเรื่อง The Martian เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้คำปรึกษาทางเทคนิคเกี่ยวกับบทและการถ่ายทำ นอกจากนี้ทีมงานยังได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำการปล่อยจรวดที่แหลมคานาเวรัล รวมถึงการปล่อยยาน Orion หนึ่งในโครงการเตรียมพร้อมนำมนุษย์สู่ดาวอังคารเมื่อเดือนธันวาคม 2014
ภาพ Orion จาก NASA
ด้วยความกลัวว่าบทของตัวเองจะซ้ำกับเรื่อง Interstellar มากเกินไป แมตต์ เดม่อน (Matt Damon) จึงลังเลเล็กน้อยที่จะสวมบท มาร์ค วัตนีย์ แต่เมื่อได้รับคำยืนยันจากผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ ว่าทั้งสองคาแรคเตอร์ต่างกันแน่นอน เขาจึงตัดสินใจรับเล่นบทนักบินอวกาศที่ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวบนดาวอังคาร
เมื่อครั้งที่ เจสสิกา แชสเทน เล่นหนังเรื่อง Interstellar เธอรู้สึกว่า แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) และแอนน์ แฮททาเวย์ (Anne Hathaway) คงสนุกมากที่ได้เล่นฉากในอวกาศ หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์เธอทราบข่าวดีว่า ริดลีย์ สก็อตต์ อยากให้เธอเล่นหนังเรื่องนี้ ซึ่งเธอก็ตอบตกลงทันที โดยเธอมีโอกาสเยี่ยมชมห้องทดลอง Jet Propulsion Laboratory (JPL) และ Johnson Space Center ในเทกซัส เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ในการเตรียมตัว แถมได้รับคำปรึกษาจากนักบินอวกาศหญิงตัวจริงอีกด้วย
เบื้องหลังการถ่ายทำ
เพื่อให้ฉากพายุบนดาวอังคารเกิดขึ้นอย่างสมจริง ผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์ ตัดสินใจสร้างพายุจำลองในสตูดิโอ Korda ซึ่งกินเวลาถ่ายทำถึง 3 วัน โดยนักแสดงและทีมงานต้องทำงานร่วมกับพัดลมยักษ์ ฝุ่น ดินทราย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มองอะไรแทบไม่เห็น ซึ่งดารานำของเรื่องอย่าง เจสสิกา แชสเทน ยอมรับว่านี่เป็นฉากที่ยากที่สุดในอาชีพนักแสดงของเธอ
เมื่อพายุทรายใกล้เข้ามา พวกเขาจะทำอย่างไร
Posted by The Martian Movie on 2 ตุลาคม 2015
มันฝรั่งของ มาร์ค วัตนีย์ ที่ใช้เข้าฉากบนดาวอังคาร ถูกปลูกขึ้นจริงด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ โรเจอร์ โฮลเดน (Roger Holden) ซึ่งนำมันฝรั่งมาผ่าครึ่งแล้วปลูกเหมือนในหนัง โดยเขาสร้างโรงเพาะชำขึ้นในสตูดิโอภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลียนแบบการให้แสง การให้ความร้อน และการบำรุงดินคล้ายกับวิธีของ มาร์ค วัตนีย์
การถ่ายทำฉากไร้แรงโน้มถ่วงในยานเฮอร์มีส ทีมงานต้องบังคับนักแสดงด้วยลวดสลิงที่แขวนอยู่บนกว้านหมุนขนาดใหญ่ ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ต้องเป็นไปอย่างไหลลื่น 360 องศา กลายเป็นงานยากสำหรับทีมงานที่ต้องเชิดหุ่นนักแสดงภายใต้ฉากขนาดใหญ่ โดยวิธีการแก้ปัญหาคือการสร้างโครงค้ำยาว 150 เมตร, รางยาว 90 เมตร, รอก 70 ตัว และเชือก Tech-12 ราว 400 เมตร เพื่อการถ่ายทำที่ต่อเนื่อง
ความทุ่มเทของทีมงานและนักแสดงทุกคนใน The Martian ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลงานที่สมจริงที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์ และถ้าใครยังไม่ได้สัมผัสความตื่นเต้นของหนังเรื่องนี้ละก็ จงซื้อตั๋วแล้วเข้าไปนั่งดูอย่างสบายใจได้เลย
ภาพจาก เว็บไซต์ทางการ The Martian, เฟซบุ๊ก The Martian, เฟซบุ๊ก The Martian Thailand, Interstellar (film)