Finding Dory กับ 7 ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

Finding Dory



          ย้อนดู Finding Dory กับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ 7 ข้อ ที่อาจเปลี่ยนเนื้อเรื่องจากหน้ามือเป็นหลังมือ

          หลายคนที่ได้ชม Finding Dory น่าจะเต็มอิ่มกับเรื่องราวสุดประทับใจ ที่กลับมาสานต่อเรื่องของ Finding Nemo ได้สมศักดิ์ศรี แต่ท่ามกลางความสนุกที่เราเพลิดเพลินตลอดเวลา 2 ชั่วโมง ยังมีเกร็ดทางวิทยาศาสตร์บางประการที่น่าสนใจและน่าอ่านไว้ประดับความรู้ โดยกระปุกดอทคอมรวบรวมข้อมูลจากจากเว็บไซต์ Cinemablend และ Go Science Girls เกี่ยวกับ 7 ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใน Finding Dory มาให้ทราบกัน ไปดูกันเลยว่า Finding Dory ควรเป็นอย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง
ชะตากรรมที่แท้จริงของพ่อแม่ดอรี่

         พ่อแม่ของดอรี่เป็นปลากลุ่มขี้ตังเบ็ดหรือมีชื่อในวงการเก๋ ๆ ว่าปลาบลูแทงก์ ปลาสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่แถบทะเลอินโด-แปซิฟิก ซึ่งกระแสน้ำจะอุ่นกว่าแถบชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย ที่อาจเย็นเกินกว่าที่ปลาสายพันธุ์นี้จะอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นหากพ่อแม่ของดอรี่รออยู่แถวนั้นจริง ๆ พวกเขาอาจตายก่อนได้พบหน้าลูกสาวเสียอีก

Finding Dory

อาหารของปลาฉลามวาฬ
 
          ในช่วงต้นของ Finding Dory เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัย เตรียมซากปลาเป็นตัว ๆ เพื่อเป็นอาหารของปลาฉลามวาฬ เดสตินี่ ซึ่งขัดแย้งกับความจริงที่ฉลามวาฬไม่ได้กินเนื้อปลาเป็นตัว ๆ แบบนั้น แต่กินสัตว์เล็กจำพวกแพลงตอน, เคย หรือไข่ปลาที่ลอยมาตามน้ำ โดยพวกมันจะอ้าปากกว้าง ๆ แล้วว่ายน้ำไปข้างหน้า เพื่อให้อาหารที่ลอยมาตามน้ำไหลเข้าปาก ก่อนที่ช่องกรองในปากจะแยกอาหารลงท้องไปเอง

Finding Dory

ปลาน้ำเค็มในน้ำจืด

          หนึ่งในปัญหาใหญ่ของ Finding Dory คือการสร้างสถานการณ์ให้ปลาน้ำเค็มอย่าง มาร์ลิน กับ นีโม สามารถเอาตัวรอดได้ในน้ำจืดได้นานขนาดนั้น เช่น ฉากที่พวกเขาติดอยู่ในตู้ปลาหน้าร้านกิฟต์ช็อปอยู่นานสองนาน ไปจนถึงฉากที่พวกเขาค่อย ๆ กระโดดข้ามน้ำพุเพื่อไปยังสระฝั่งตรงข้าม

Finding Dory

ที่อยู่ของหมึกเรืองแสง

          จำหมึกยักษ์ที่ออกมาไล่ ดอรี่, มาร์ลิน และนีโมได้ไหม ? ในความจริงนั่นคือหมึกเรืองแสงมักอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ซึ่งฉากดังกล่าวใน Finding Dory ไม่ได้เกิดขึ้นใต้ทะเลลึกแต่อย่างใด จึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่หมึกตัวนั้นจะอยู่ในทะเลน้ำตื้น ในทางกลับกัน ดอรี่, มาร์ลิน และนีโม ก็ไม่สามารถว่ายน้ำลงลึกไปเจอกับหมึกเรืองแสงได้อย่างแน่นอน

Finding Dory

Finding Dory

การส่งคลื่นเสียงของวาฬเบลูก้า

          วาฬเบลูก้าเป็นหนึ่งในสัตว์หลายชนิดที่ใช้การสะท้อนคลื่นเสียง Echolocation เพื่อการนำทางและบอกตำแหน่งวัตถุต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำงานได้เฉพาะตอนอยู่ในน้ำเท่านั้น เพราะคลื่นดังกล่าวต้องใช้น้ำเป็นสื่อในการเดินทาง ผิดกับใน Finding Dory ที่เจ้าวาฬ เบย์ลีย์ สามารถส่งคลื่นได้แม้กระทั่งตอนที่หัวอยู่พ้นน้ำ ซึ่งไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริงแน่นอน

Finding Dory

Finding Dory

สายตาของปลาฉลามวาฬ 

          เดสตินี่ ปลาฉลามวาฬสาวที่เป็นเพื่อนกับ ดอรี่ มีปัญหาสายตาสั้นและว่ายน้ำชนโน่นนี่เป็นประจำ อันที่จริงนี่เป็นมุกขำ ๆ ที่ผู้สร้างแซวธรรมชาติของฉลามวาฬ เพราะดวงตาของพวกมันเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ซึ่งนักชีววิทยามักพูดกันตลก ๆ ว่าดวงตาเล็กแค่นี้จะมองเห็นชัดได้อย่างไร

Finding Dory

Finding Dory

ระบบท่อในอควาเรียม

          สถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำโดยทั่วไป ไม่ค่อยมีระบบท่อที่เชื่อมบ่อจัดแสดงต่าง ๆ ถึงกัน เพราะถ้าหากบ่อใดบ่อหนึ่งติดเชื้อบางอย่างขึ้นมา บ่ออื่น ๆ อาจติดเชื้อตามไปด้วยนั่นเอง

Finding Dory
 
           จริงอยู่ที่เรื่องราวในแอนิเมชั่นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิง แต่การเรียนรู้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เอาไว้บ้างก็คงไม่เสียหายอะไร เพราะสุดท้ายเราทุกคนก็เห็นตรงกันว่า Finding Dory เป็นแอนิเมชั่นที่สนุกมากจริง ๆ

Finding Dory

Finding Dory

Finding Dory

ภาพจาก Walt Disney Studios, เฟซบุ๊ก Dory, เฟซบุ๊ก Finding Dory

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Finding Dory กับ 7 ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2559 เวลา 13:49:27 15,650 อ่าน
TOP
x close