จุดเริ่มต้น-ที่มาที่ไปของ "แม่เบี้ย"
จริง ๆ แล้วมันเริ่มจากข่าวที่ว่ามีผู้หญิงแม่ลูกที่มาจากเมืองนอก แต่งชุดไทยแล้วไปเดินในห้างก็มีคนหาว่าบ้า ประเด็นนั้นเป็นประเด็นที่สนใจมาก มันสะท้อนให้เราได้รู้ว่าคนปัจจุบันนั้นคิดอะไรอยู่กับการที่คนแต่งชุดไทยเพราะฉะนั้นเราคิดว่าโลกสมัยใหม่เปลี่ยนไปมาก คนไทยอยู่ในเมืองไทยแต่งชุดไทยมันแปลกกันมาก คนตลกหรือคนว่าโอเวอร์ เราไปญี่ปุ่นไปโตเกียวคนใส่กิโมโนมีแต่คนยกย่อง ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นเจริญกว่าเราตั้งมากมาย แต่เค้ายังยึดมันกับขนบธรรมเนียมของเค้าไปพร้อม ๆ กับความเจริญ มันก็ถูกของเค้า เราก็เลยมีความรู้สึกว่าคนไทยลืมรากเหง้าของตัวเองโดยเฉพาะคนปัจจุบันที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจนลืมรากเหง้าของตัวเอง หรือว่าคนที่เห็นรากเหง้าของเราเองเป็นคนเพี้ยน, ตลก หรือเชยเท่านั้นเองหรือซึ่งตรงกับแก่นแท้หรือวรรณกรรม "แม่เบี้ย" ของ "คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์" เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้จะเห็นว่าไม่ได้พูดถึงความรักหรือความพิศวาสระหว่างชนะชลกับเมขลาโดยมีงูหนึ่งตัวทำให้ตื่นเต้นอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วแก่นแท้อยู่ที่ว่ารากเหง้าของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน คนไทยกำลังลืมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย นิยายนั่นเขียนเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วนะ ไม่เชยเลย ยิ่งยุคนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก จากข่าวนั้นทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจนะว่าคนรุ่นใหม่เห็นความเป็นไทยเป็นเรื่องตลกหรือเรื่องบ้า
มันอาจจะเป็นยุคใหม่หรือเปล่าที่คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องความเป็นไทย
นั่นน่ะสิ ทำไมเราไม่ดูเกาหลี ญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างล่ะ ขณะที่เค้าเป็นประเทศที่เจริญกว่าเราตั้งเยอะ เค้าไฮเทคกว่าทุกเรื่อง เศรษฐกิจเค้าก็ดีกว่าทุกอย่าง ดีกว่าหมด ทำไมเค้าถึงเห็นวัฒนธรรมของเค้าเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง จริงหรือไม่จริง
การดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายสู่ภาพยนตร์
จริง ๆ แล้วตอนนึกถึง "แม่เบี้ย" แล้วกลับไปอ่านอีกทีหนึ่ง มันก็ชัดเจนเลยว่าจริง ๆ แล้วพี่วาณิชซ่อนสิ่งนี้เอาไว้ เหมือนรู้ว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้าคนไทยยิ่งจะไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทยมากขึ้นแล้วก็มากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องจริง ๆ แล้วจะเป็นเรื่องที่ดำเนิน 7 วันสุดท้ายในชีวิตของชนะชลที่ค้นพบความเป็นตัวเองที่บ้านไทยโบราณหลังนั้นที่บางปลาม้า ริมแม่น้ำสุพรรณ ที่ตรงนั้นเองที่เค้าค้นพบตัวเองว่าเราคือใคร และเค้าหลงใหลในความเป็นไทยอย่างไร รากเหง้าของเค้าเป็นอย่างไร และท้ายสุดก็จบชีวิตลงที่นั่น ซึ่งคนที่ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยนึกถึงตรงนั้นเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นแก่นแท้ ๆ แต่เราไปเน้นเรื่องพิศวาสระหว่างเมขลากับชนะชลเท่านั้น พอเราอ่านใหม่จริง บรรยากาศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มือถือก็ไม่มีในเรื่อง คอมพิวเตอร์ก็ไม่มี ไฟฟ้าในบ้านเรือนไทยก็ไม่มี ต้องปรับให้เยอะเพื่อที่จะให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เราก็เลยต้องปรับอะไรหลาย ๆ อย่างในบทประพันธ์ แต่ยังรักษารากแก่นแท้เอาไว้ว่าต้องการจะพูดอะไรกับคนอ่าน เพราะฉะนั้นเราต้องมีการสร้างตัวละครใหม่เกิดขึ้นมา มีการเปรียบเทียบระหว่างบ้านเมขลาที่บ้านสุพรรณบุรีกับบรรยากาศในกรุงเทพฯที่เป็นไฮเทค เพราะฉะนั้นตัวละครจะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งหนึ่งที่จะอยู่กรุงเทพฯ แล้วอีกโลกหนึ่งคือโลกเล็ก ๆ โลกของบ้านเมขลาที่สุพรรณบุรีที่เค้ารักษาความเป็นไทยไว้ ตัวเมขลาเองเป็นตัวที่เชื่อมระหว่างโลกสมัยใหม่กับโลกสมัยเก่า เรื่องจะพูดถึงตัวละครที่ติดอยู่กับอดีต ทั้งที่ตัวเมขลาเองก็ติดอยู่กับอดีต ชนะชลเองก็ติดอยู่กับอดีตที่คลุมเครือมากที่ทั้งคู่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
"แม่เบี้ย" เวอร์ชั่นหม่อมน้อยเป็นอย่างไร
ทุก ๆ อย่างมีหมด มีทุกประการอย่างน้อยที่สุดยังไงก็เป็นหนังวิจิตรกามาคืออีโรติก คือความงามของเซ็กซ์เปรียบได้กับฉากอัศจรรย์ของวรรณคดีโบราณที่พูดถึงเรื่องบนเตียงมาก งูคือตัวละครสำคัญของเรื่อง พระเอก-นางเอกของเรื่องตัวจริงคืออะไร มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าจะคิดกัน ถ้ามองผิวเผินก็จะมองว่างูเป็นตัวร้าย งูเป็นสิ่งที่ดุร้าย เลวร้ายโดยทั่วๆ ไป แต่งูในตัวละครของพี่วาณิชจะออกมาทุกๆ ครั้งที่ตัวละครทำอะไรที่ไม่ดี ผิดศีลธรรม ซึ่งเรื่องนี้พูดถึงตรงนี้อย่างรุนแรงมาก จริงๆ เรื่องนี้พูดถึงคนผิดศีล จะออกมาการนี้ตลอด หรือจะออกมาฆ่าคนที่ทำบาป เพราะฉะนั้นงูคืออะไร งูจะลึบลับมาก เป็นประเด็นที่น่าดูมากๆ งูในนี้เวอร์ชั่นนี้จะแตกต่างมาก ซึ่งงูในเวอร์ชั่นอื่นๆ จะเป็นงูที่พิศวาส แต่เรื่องนี้จะมีทั้งความน่ารักและความน่ากลัวของงูที่เราเราตีความเป็นงูเห่ายักษ์
คือถ้าเราเอาวรรณกรรมไทยที่ดีมากเรื่องนี้มาทำ เราต้องรักษาแก่นของผู้ประพันธ์เอาไว้ ท่านก็เป็นนักประพันธ์รางวัลซีไรต์ ต้องมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านิยายธรรมดา "แม่เบี้ย" ไม่ใช่นิยายธรรมดา ท่านเอาความอีโรติก เอาความลึบลับของงู ความลึบลับของบ้านมาเป็นเปลือกนอก แต่จริงๆ แล้วท่านพูดถึงคนบาป และสอนให้คนอย่าทำบาปกรรม เพราะตอนจบก็จะได้เห็นผลการกระทำของตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเมขลา, ชนะชล หรือว่าใครก็ตามในเรื่องนี้ล้วนเป็นคนบาปทั้งสิ้น ทุกคนก็จะได้รับผลชะตากรรมของตัวเองเป็นการเตือนว่ามนุษย์ต้องดูตัวเองนะ และดูตัวละครในเรื่องแล้วลดทอนบาปของตัวเองลงไป เพราะว่าเราคิดว่าคนในปัจจุบันทำบาปซะจนชิน เป็นเรื่องธรรมดามาก เช่นเรื่องง่ายๆ การโกหกเอาตัวรอด คนสมัยนี้เป็นคนฉลาดหลักแหลม ซึ่งตัวเราเองทุกคนก็เป็น เช่น วันนี้ทำไมมาสาย รถติด จริงๆ ก็โกหกแล้ว จริงๆ อาจตื่นสาย คือโกหกจนเป็นเรื่องธรรมดา เราเลยมีการสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อซับพอร์ตในบทสรุปความร้ายทั้งมวลคือมนุษย์นั่นเอง
ในแง่ของการดำเนินเรื่องคือ 7 วันสุดท้ายในชีวิตของชนะชล ที่เคาท์ดาวน์ลงไปว่าในแต่ละวันเค้าพบอะไรบ้าง เค้าเรียนรู้อะไรบ้าง แล้วท้ายสุดคืออะไร วิธีดูหนังต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่มาดูพระเอก-นางเอกรักอย่างดูดดื่ม เป็นไปไม่ได้ เป็นคำถามหลายครั้งว่าทำไมไม่เห็นรักกันเลย เราก็เลยบอกว่าอยู่กัน 7 วันจะเอาอะไรมารักกันล่ะ มันไม่ใช่ขวัญเรียมนะ ขวัญเรียมเค้ารักกันมาตั้งแต่เด็ก แล้วนี่ก็ไม่ใช่หนังรัก คนดูต้องเปิดใจดูสิ่งใหม่ มองแม่เบี้ยในมุมมองใหม่ เราก็มาทำแม่เบี้ยเวอร์ชั่นใหม่ที่พี่วาณิชพูดกับสังคมไว้ แก่นแท้ไม่ล้าสมัยเลย
เราว่าฉากจำ มันเป็นเพราะตอนที่ "คิง สมจริง" ทำเมื่อปี 2544 เขาก็ทำฉากขูดมะพร้าว ซึ่งจริง ๆ ในวรรณกรรมก็ไม่มี คือเขาต้องการขายหน้าอก ยกเว้นอย่าง "จันดารา" ที่ถูน้ำแข็ง อันนั้นในบทประพันธ์มันมี เราเอาน้ำแข็งเป็นสำคัญ อันนี้มะพร้าวไม่ได้เป็นสัญลักษณ์บอกอะไร เพียงแต่ขูดแล้วเห็นฐานนมของมะหมี่แค่นั้น เพราะฉะนั้นเราว่าหนังเรื่องนี้มันเห็นมากกว่านั้นอีก เป็นอีโรติกเยอะกว่านั้น
นี่ไงมันเป็นเพราะไปติดกับตรงนั้นก็ดูอันนั้นไป เราจะทำใหม่ทำไมมันตั้งกี่ปีมาแล้ว มันไม่ใช่หนังรีเมคนี่ แล้วจะทำทำไมให้เหมือนเก่า แล้วคุณค่าของมันอยู่แค่นี้เหรอ คุณซื้อตั๋วดูกี่ร้อยบาท เพื่อดูแค่นี้เหรอ คุณไม่เอาคุณค่าว่าหนังสอนอะไรคุณเหรอ สอนตัวคุณให้คุณเห็นสัจธรรมอะไรบางอย่างในชีวิตหรือเห็นข้อบกพร่องของตัวคุณแล้วเอาไปปรับปรุงตัวคุณ ไม่แน่คุณดูหนังเรื่องนี้ คุณอาจพบตัวคุณในตัวละครหลายตัวในนี้ แล้วได้เห็นข้อบกพร่องของเขา เพื่อจะปรับให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น นี่คือหน้าที่ของหนังไม่ใช่เหรอ หนังมีหน้าที่บันเทิงอย่างเดียวเหรอ ไม่ใช่นะ คุณจ่ายเงินเท่าไหร่ 200-300 บาท แล้วก็มาหัวเราะ ๆ ตื่นเต้น ๆ แล้วเดินออกไปอย่างนั้นเหรอ หนังตื้นขนาดนั้นเหรอ ไม่จริง หนังทุกประเภทเลย ไม่ว่าจะเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่หรือหนังอะไรก็ตามก็สอนคุณธรรมหมด เหล่าร้ายผู้อธรรมก็แพ้คนดีหมด หนังทุกเรื่องมันมีคุณธรรมอยู่ในนั้น หรือหนังตลกหลายต่อหลายเรื่อง บางทีเราหัวเราะข้อบกพร่องของตัวเราเองด้วยซ้ำไป แล้วคุณมองภาพยนตร์อย่างไร คุณมองศิลปะภาพยนตร์อย่างไร การดูหนัง การเข้าไปในโรงหนัง การไปอยู่กับคนหลาย ๆ คน แล้วสมาธิจดจ้องอยู่ในสิ่งเดียวกัน มันเหมือนคุณกำลังฟังธรรมอยู่ใช่ไหม ใช่ ซึ่งผู้กำกับระดับโลกหลายท่านก็คิดแบบนี้
จริง ๆ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักหนังเรื่อง "แม่เบี้ย"
ก็จะบอกว่า จริง ๆ ตอนนี้กี่เปอร์เซนต์ของคนดูภาพยนตร์รู้จักวรรณกรรม "แม่เบี้ย" เราว่าคนคงรู้จักแค่ 5 เปอร์เซนต์เองมั้ง ที่รู้จักจริง ๆ เคยอ่านหนังสือจริง ๆ หรือเคยดูหนังเก่าจริง ๆ คนดูหนังเก่าเขาอายุเท่าไหร่ มันเทียบไม่ได้ เหมือน แผลเก่า, ชั่วฟ้าดินสลาย ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด ไม่มีใครจำดีเทลได้ จำเรื่องก็ไม่ได้ จำอะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียว หรือคุณไปจำอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็เอามาพูด ไปจำว่าชนะชล-เมขลา จำได้แค่นั้น แผลเก่าก็จำได้แต่ขวัญ-เรียมเท่านั้น แล้วคุณคิดว่าคุณรู้ คุณจำได้ ไม่ใช่เลย คุณจำได้แต่ขูดมะพร้าวจบ แต่การขูดมะพร้าวนั้นคือหนังเรื่อง "แม่เบี้ย" เหรอ มันคือแก่นแท้ของแม่เบี้ยเหรอ ไม่ใช่เลย มันเป็นหนึ่งฉากที่ขายนมผู้หญิงก็จบ ไม่มีความหมายลึกซึ้งอะไรเลย
จริง ๆ แล้วฉากอีโรติกในแต่ละฉากจะมีความหมายต่างกัน มันขึ้นอยู่กับตัวละคร ก็มีอยู่ประมาณ 3-4 ฉาก จะเห็นได้ว่าฉากอีโรติกแรกของหนังเป็นฉากภาคภูมิกับสาวใช้ของเมขลาที่ใต้ถุนของบ้านในระหว่างที่ข้างบนมีการแสดงหุ่นกระบอกรามสูร-เมขลา ฉากนั้นเป็นฉากแรกจะเห็นได้ชัดเลยว่าตัวละครภาคภูมิจะเป็นคนมักมากในกาม เป็นคนที่เสรีในเรื่องเพศมาก แล้วตัดสลับกับหุ่นกระบอก ซึ่งอันนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งอยู่มาก หุ่นกระบอกเมขลากับรามสูรเป็นสัญลักษณ์ของพายุคือ พายุฝน ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ก็เพราะว่านางเมขลาล่อแก้วรามสูร ฟ้าผ่าก็คือรามสูรขว้างขวานไป มันก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เปรียบเทียบได้ระหว่างมนุษย์หญิง-ชายที่มีเคมีตรงกันจริง ๆ จึงเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ อย่างตัวละครภาคภูมิก็จะมีเซ็กส์กับผู้หญิงที่ตัวเองพอใจเท่านั้น แต่สิ่งที่เค้ากระทำเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดเพราะว่าเค้ากระทำในเรือนโบราณนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้คุณหรืองูเจ้าปรากฏตัวขึ้นมา แล้วก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของชนะชลที่เห็นเมขลาแล้วใจนึกอยากจะทำเช่นนั้น ซึ่งฉากของชนะชลและเมขลาเกิดจากการที่จริง ๆ แล้วชนะชลโดนคลุมถุงชนโดนบังคับแต่งงานกับไหมแก้ว มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก เวลาที่ชนะชลเจอเมขลาในชุดไทยเค้าหลงใหลในความเป็นไทย หลงใหลในบรรยากาศบ้านนั้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างที่สองคนนี้ดึงดูดกัน มันเลยกระตุ้นทำให้ชนะชลมีความรู้สึกทางเพศกับเมขลาที่ค่อนข้างรุนแรงโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นในฉากที่เค้ามีอะไรกันเนี่ยมันเลยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เพราะความสัมพันธ์ของเมขลาและชนะชลมันมีอดีตที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของทั้งคู่เป็นทุนอยู่ มันเลยเป็นฉากที่ค่อนข้างรุนแรงมาก
มันอาจจะเป็นอีกก้าวหนึ่งจริง ๆ ที่หนังไทยได้แสดงความงามของสรีระของผู้ชาย-ผู้หญิงมาก ๆ ในฉากที่นั่งคุยกันโดยที่ผู้หญิงนั่งเปลือยอกหมดเลยหรือผู้ชายก็วับ ๆ แวม ๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้จงใจที่จะขายสิ่งเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงพวกเราก็ทำแบบนั้นอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ซึ่งในภาพยนตร์เราก็คิดในพื้นฐานของความเป็นจริงทั้งหมด ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าความคิดคำว่าเซ็กส์ของคนไทยแล้วเป็นอย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่เราทำกันอยู่เป็นเรื่องปกตินะ คนที่ไม่ทำเลยคงต้องไปหาจิตแพทย์เป็นอย่างมาก นอกจากเป็นพระหรือสมณเพศ
ภาพยนตร์ทุกเรื่องของเราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำแบบนั้น เพราะฉะนั้นแล้วอยากให้ทั้งคนดูทั้งสื่อเข้าใจด้วยว่ามันไม่ได้ทำง่าย ๆ มันต้องมีเหตุผลพอที่จะทำ คนอายุ 60 กว่าแล้วอย่างเราต้องให้คนมาสังวาสแล้วถ่ายกันแค่นั้นเหรอ ก็ไม่ใช่ แต่สิ่งเหล่านี้ทำผ่านชีวิตเรามามากแล้ว คิดด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าประเด็นเหล่านี้คนไทยในยุคนี้ในยุคที่การทำงานภาพยนตร์เจริญเติบโตไปมาก พัฒนาไปมากถึงขนาดนี้แล้ว มันน่าจะใจกว้างพอที่จะมองออกว่างานที่ศิลปินอยากจะทำออกมาเพื่อนำเสนอที่จริงแล้วทำเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ผ่านจอออกมานี้ มันมีจุดประสงค์หรือวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งคนอายุอย่างเราคงไม่ต้องมาทำเล่น ๆ หรือว่าทำเอาสนุก มันถึงเวลาแล้วที่เราคิดว่าคนไทยจิตใจน่าจะกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเสพภาพยนตร์
หลัก ๆ คือโลเกชั่นบ้านไทย ซึ่งบังเอิญมากเราได้บ้านไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรี ที่บางปลาม้าจริง ๆ ซึ่งไม่เคยผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์หรืออะไรมาก่อนเลย ซึ่งเป็นบ้านเก่าเจ้าของเก่าทำร้านอาหารแล้วเลิกทำไป 3 ปีเลยทิ้งไว้ร้าง ๆ แบบนั้น เราก็เลยได้ไปรีโนเวทใหม่ ซึ่งสวยเหลือเกิน บรรยากาศก็ดีมาก แล้วเราก็เลยทำให้น่าเชื่อให้สมเป็นบ้านของเมขลาจริง ๆ ดูลึบลับ มีอะไรบางอย่างที่มีกระแสคลื่นที่ลึบลับ ก็เหมาะกับบ้านหลังนี้มาก มันสวยมาก ๆ
มุมมองใหม่ผ่านการถ่ายทำของตากล้องโฆษณา
เรื่องการถ่ายทำครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราใช้ตากล้องจากวงการโฆษณา คือ "คุณอุดม วรประคุณ" เพราะถ้าสังเกตดี ๆ มันกลายเป็นหนังที่ไม่พีเรียดเรื่องแรกของเราในระยะหลังด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเราอยากได้มุมมองเก๋ ๆ ทันสมัยกับหนังเรื่องนี้ก็เลยใช้ตากล้องโฆษณามาถ่าย ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว มันได้แง่มุมใหม่ ๆ ซึ่งเราไม่เคยเห็นแล้วเราไม่เคยทำด้วย
คือว่าในส่วนที่เป็นกรุงเทพฯ ทั้งหมด เราใช้เครื่องมืออย่างโดรนมาถ่ายในฉากเปิดเรื่องที่ภาคภูมิขับรถข้ามสะพาน เราใช้เครื่องมือมากขึ้น ให้มันดูทันสมันมากขึ้น หรือการใช้มุมกล้องที่เป็นแฮนด์เฮลในบริษัทของชนะชล แสงที่มองดูเป็นเรื่องทันสมัย ในบ้านชนะชลที่เป็นบ้านในยุคปัจจุบัน ปกติบ้านเราเป็นบ้านพีเรียดหมด การใช้แสงเป็นแสงที่เหมือนจริงในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมุมกล้องต่าง ๆ เป็นเรื่องทันสมัยกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ทำมา เพราะฉะนั้นเราถึงใช้ตากล้องที่มาจากวงการโฆษณา เวลาเมขลาอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาจะเป็นผู้หญิงเก๋ ๆ แต่พอไปอยู่บ้านที่สุพรรณก็จะดูเป็นไทย เพราะฉะนั้นมันจะมีความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ ที่ทันสมัยกับบ้านที่สุพรรณที่มีความเป็นไทยมากซึ่งในหนังเรื่องอื่นเราไม่มี ซึ่งอันนี้มุมกล้องต่าง ๆ มันมีอะไรที่เก๋ไก๋ขึ้นมากว่าเดิมมาก ร่วมสมัยมากขึ้น
ทีมงานเบื้องหลังอื่น ๆ
เสื้อผ้า-หน้าผม เราใช้ทีมเดิมหมดเลย เราใช้เสื้อผ้า "โจ้ Surface" (อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์) กับเมคอัพอาจารย์ "ขวด-มนตรี วัดละเอียด" ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย แล้วก็คือทำงานเข้าขาแล้ว เสื้อผ้าก็มีทั้งเสื้อผ้าที่ทันสมัยแล้วก็เสื้อผ้าที่เป็นความเป็นไทย โดยที่ผ้าไทยเป็นผ้าไทยที่ทำใหม่แต่ว่ารักษาของเดิมไว้ ราคาแพงมาก เอามาใช้เป็นผ้านุ่งของเมขลา เครื่องประดับก็เป็นของเก่าจริง ๆ เป็นของโบราณจริง ๆ ทั้งหมด ส่วนเสื้อผ้าฝั่งกรุงเทพฯ ก็มีการดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ให้ทันสมัยให้ร่วมสมัยขึ้น ทรงผมมีการดีไซน์พิเศษสำหรับตัวเมขลาเท่านั้น ให้ร่วมสมัยด้วยแล้วก็เป็นตัวของเขาด้วย มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวด้วย
ฉากก็เหมือนกัน บ้านเมขลาที่กรุงเทพฯ จะมีความเป็นบ้านศิลปิน เป็นบ้านของอาร์ติส คนจบศิลปากร อันนี้มันมีความพิเศษตรงนั้น
ดนตรีประกอบเรื่องก็ทำโดย "อาจารย์ปิติ เกยูรพันธ์" ที่ทำแผลเก่า ซึ่งก็น่าสนใจมาก เพราะว่าดนตรีธีมของเรื่องมีอยู่ 2 ธีม ธีมหนึ่งคือใช้ "เพลงลาวคำหอม" คือเพลงไทยเดิมมาทำใหม่กับอีกเพลงหนึ่งคือ "เพลงรู้กันแค่สองคน" ซึ่งแต่งใหม่เป็นเพลง R&B ซึ่งทั้ง 2 เพลง ร้องโดย "ฮัท จิรวิชญ์" (ฮัท เดอะสตาร์) ที่เล่นเป็นภาคภูมิ ซึ่งคุณปิติทำออกมาได้ดีมาก ฮัทเองก็ร้องได้เพราะมาก แตกต่างกันมากทั้ง 2 เพลง
"ลาวคำหอม" เป็นเพลงยุคเก่า คุณยายคุณย่าร้องกล่อมลูกหลาน มันเป็นเพลงเหมือนเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของตัวเมขลา เป็นจิตวิญญาณของความเป็นไทย ส่วน "รู้กันแค่สองคน" เป็นเพลงใหม่ R&B เป็นเพลงจิตวิญญาณของคนสมัยใหม่คือของผู้มีชู้ เพลงทันสมัยมาก เพื่อที่จะเห็นว่าเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมดา คือจิตเสรีเรื่องการเป็นชู้กัน มันอยู่ที่ใจมากกว่า แล้วก็เป็นเรื่องความลับนะรู้กันแค่ 2 คน เป็นคอนเซ็ปต์ของคนกรุงเทพฯ คนสมัยใหม่
แง่คิดจาก "แม่เบี้ย" เวอร์ชั่นนี้
จริง ๆ หนังเองธาตุแท้จะพูดถึงศีลธรรม ถ้าเกิดดูดี ๆ เขาไม่มีการโทษใครว่าใครผิดใครถูก จริง ๆ มันอยู่ที่คนดูจะตัดสินเอง เป็นการนำเสนอภาพพฤติกรรมของมนุษย์หลาย ๆ คน ตัวละครหลาย ๆ แบบในเรื่องนี้มาให้คนดูได้ดู แล้วก็พิจารณาว่าเราเหมือนใครบ้าง ข้อบกพร่องของเขาแต่ละคนมีข้อบกพร่องในตัวเองบ้างหรือเปล่า ความสนุกของหนังจะอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า และอาจจะอยู่ที่การตีความว่างูคืออะไรกันแน่ งูที่เมขลาเรียกว่า "คุณ" มีจริงหรือเปล่า หรือเมขลาคิดไปเอง หรือใครคิดไปเอง
มันมีไดอะล็อกสำคัญที่ลุงทิมพูดกับชนะชลในฉากใกล้จะจบว่า ถ้าคุณเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงมันก็จริง ถ้าคุณเชื่อว่าเรื่องนี้มันไม่จริงมันก็ไม่จริง ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เวลาเราศรัทธาเราเชื่ออะไร มันก็มีจริง ถ้าเราไม่ศรัทธาไม่เชื่อก็ไม่มีจริง ถ้าเราศรัทธาในคุณงามความดี คุณงามความดีก็มีจริง ถ้าเราไม่ศรัทธาในคุณงามความดี มันก็ไม่มีคุณงามความดีจริงๆ มันขึ้นอยู่กับคุณที่คุณจะเลือกว่า คุณจะศรัทธาในชีวิตหรือไม่ศรัทธา
คุณดูเวอร์ชั่นเก่าคุณจำได้เหรอ จำไม่ได้แล้วจะติดภาพอะไร เขาเรียกว่าอุปาทาน คุณอุปาทานไปเอง จริง ๆ ถ้าจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แนะนำว่าทำใจว่าง ๆ เปล่า ๆ แล้วก็เหมือนแอบดูชีวิตคนแล้วสนุก ๆ ไป เหมือนเราแอบดูคนข้างบ้าน แล้วเราเรียนรู้อะไรบ้าง เขาเป็นใครยังไง ลืมเรื่องเก่าให้หมด ไม่ต้องไปรู้ว่า "แม่เบี้ย" คืออะไร ใครเป็นใคร เริ่มใหม่ เป็นศูนย์ แล้วคุณจะได้อะไรเยอะเลย อย่างถ้าคุณมีภาพแม่เบี้ยเก่าแล้ว จิตใจคุณดูเหมือนมันผ่านแว่นตาที่มีสี คุณมีฟิลเตอร์อยู่ที่ตาแล้ว คุณจะมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ชัดเจน มีสีย้อมอยู่แล้วก็จะดูไม่สนุกแล้วก็ดูไม่รู้เรื่อง แล้วมันก็จะกลายเป็นไม่เห็นเหมือนเดิม ซึ่งเราจะเสียเวลา เสียพลังงาน เสียเงิน มาสร้างหนังรีเมกซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างนั้นหรือ แต่ว่าความสนุกมันคงอยู่ที่นี่แหละ คนลักษณะนิสัยต่าง ๆ มาปรากฏอยู่บนจอ ต่อให้เจเนอร์เรชั่นเก่าที่ไม่รู้จักแม่เบี้ย หรือรู้จักแม่เบี้ยดี ก็จะสนุกกับมุมมองใหม่ และแก่นแท้ที่คุณวาณิชท่านได้เขียนเอาไว้