สำรวจหนัง โดนแบน - ติดเรต ลูกกรงของผู้สร้างทั่วโลก

Bruno



สำรวจหนัง "โดนแบน-ติดเรต"ลูกกรงของผู้สร้างทั่วโลก (คมชัดลึก)

          การจัดเรตภาพยนตร์ในบ้านเราเคยเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่พักหนึ่ง แม้จะไม่ร้อนแรงเท่ากับไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ก็ถือว่าเป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน ผู้ต้องการให้จัดเรตส่วนหนึ่งมาจากความกังวลในเนื้อหาและการนำเสนอที่ล่อแหลมต่อผู้ชมและอาจส่งผลกระทบเป็นปัญหาสังคม ในขณะที่ผู้สร้างมองว่าเป็นกระจกสะท้อนความเป็นไปของสังคม แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองต่างกัน

          อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศได้มีการจัดเรตภาพยนตร์กันไปบ้างแล้ว ซึ่งทำให้มีหนังจำนวนไม่น้อยที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ หรือโดนแบน และหนักกว่าสำหรับบางเรื่องที่ต้องยอมลงทุนหั่นฉากบางฉากออกไป เพื่อให้ได้เข้าฉาย มาดูกันหน่อยดีกว่าหนังเรื่องไหนบ้าง ที่เคยเข้าข่ายโดนแบน...น โดยหั่น...น

          เริ่มกันที่ภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายในบ้านเรา (30 กรกฎาคม) อย่างเรื่อง Bruno (2009) ที่ได้นักแสดงเลื่องชื่ออย่าง ซาช่า บารอน โคเฮน มาแสดงนำอีกครั้งหลังจากประสบความสำเร็จจากเรื่อง Borat หนังเรื่องนี้เป็นหนังล้อเลียน ที่มีความซ่าและบ้าแบบสาระแน ห้าวเป้ง ตรงที่แกล้งอำชาวบ้านจนเกิดเรื่อง ทำให้ถูกแบนห้ามฉายที่ยูเครน นอกจากนี้ยังถูกตัดบางฉากก่อนฉายที่อังกฤษด้วย ส่วนบ้านเราไฟเขียวผ่านฉลุย


The Da Vinci Code

Angels & Demons



          ต่อมาเป็นเรื่อง  The Da Vinci Code (2006) และ Angels & Demons (2009) ที่เพิ่งออกจากโรงบ้านเราไปไม่นาน ทั้งสองเรื่องโดนสำนักวาติกันเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตร เนื่องจากมีเนื้อหาที่ให้ร้ายและต่อต้านคริสตจักร และยุแยงให้ชาวคริสต์ทั่วโลกเอาใจออกห่างจากศาสนา อันอาจก่อให้เกิดความหายนะต่อศาสนาคริสต์ได้ แต่อย่างว่ายิ่งประท้วงห้ามฉายมากเท่าไหร่ หนังก็ยิ่งขายดี๊..ขายดี



Zoolander



          Zoolander (2001) เป็นผลงานของนักแสดงตลก เบน สติลเลอร์ ที่หันมากำกับหนัง และเคยฉายในบ้านเรา ซึ่งหลายคนน่าจะได้ดูกันมาบ้าง สาเหตุที่โดนแบนห้ามฉายในประเทศมาเลเซีย ในสมัยของมหาเธห์ เพราะเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ทำนองดูถูก โง่เขลา เบาปัญญาเกินกว่าจะเป็นผู้นำคนอื่น แม้หนังจะไร้สาระไปสักหน่อย แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของคนที่ทุกวันนี้ต่างดิ้นรนเอาแต่ชื่อเสียงและเงินทอง จนหลงลืมคุณธรรม รวมทั้งมุมมองอาชีพนายแบบระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุนใหม่ได้เป็นอย่างดี



Basie moi



          Basie moi (2002) เป็นหนังฝรั่งเศส ที่มีฉากฆ่ารุนแรงและฉากเซ็กส์วิตถารตลอดทั้งเรื่อง เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของผู้หญิง 2 คน ที่ถูกฝ่ายชายกระทำย่ำยีต่างๆ นานา และพวกเธอก็ตัดสินใจฆ่าผู้ชายเหล่านั้นด้วยตนเอง หนังดูรุนแรงมากจนถูกห้ามฉายในฝรั่งเศส และในอีกหลายๆ ประเทศ เป็นผลงานการกำกับของ วีร์ชินี่ เดสปองต์ ที่ต้องการสะท้อนการกระทำของนักแสดงนำทั้งสอง ที่ต้องการความยุติธรรมให้แก่ตนเองโดยพวกเธอเลือกที่จะเป็นศาลเตี้ยเสียเอง

แสงศตวรรษ



          มาที่หนังไทยกันบ้างอย่างเรื่อง แสงศตวรรษ (2006) เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่โดนแบน เพราะตัวหนังตีแผ่ความเลวร้ายของสังคมเมืองไทย โดยผ่านการกระทำของตัวละครที่แหกกฎศีลธรรม ประเพณี จนดูเหมือนว่ามันเลวร้ายกว่าการทำผิดกฎหมาย และอาจทำให้กลุ่มอาชีพในเรื่องนั้นได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะวงการศาสนาและสาธารณสุข ซึ่ง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับกลับมองว่าหนังจะเป็นกระบอกเสียง บอกแก่สังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้



Anna and the King



          ส่วนเรื่อง Anna and the King (1999) ผลงานการกำกับของ แอนดี้ เทนนาด เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ถูกห้ามฉายที่ประเทศไทยเหตุเพราะลบหลู่เบื้องสูง หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกับหนัง เป็นชีวประวัติของแอนนา เลียวส์โนเวน แหม่มชาวอังกฤษที่ได้รับการว่าจ้างให้มาสอนภาษาอังกฤษให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชวัง เนื้อหาถ่ายทอดคำบอกเล่าและความรู้สึกของแหม่มแอนนาเพียงข้างเดียว โดยเฉพาะการที่มองว่าคนไทยไม่ใส่เสื้อผ้า พูดจากระด้าง เป็นคนไร้การศึกษา ไร้วัฒนธรรมทำให้เกิดภาพลบแก่ประเทศ



Xiu Xiu :The Sent Down Girl



          Xiu Xiu :The Sent Down Girl (1998) หนังเรื่องนี้กล่าวถึง ซิ่ว ซิ่ว เด็กสาวที่ถูกหลอกให้ออกจากหมู่บ้าน เพราะนโยบายของรัฐบาลในปี 1976 ที่ต้องการลดจำนวนประชากรในตัวเมืองลง หนังเรื่องนี้โดนแบนที่ประเทศฮ่องกงและจีน เพราะโครงเรื่องกล่าวถึงการที่เพศชายย่ำยีเพศหญิง และการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องบัดสี แต่ในมุมมองของผู้กำกับ โจน เซ็ง กลับต้องการสะท้อนถึงผู้คน วัฒนธรรมในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ที่มีผลต่อเพศหญิงในเรื่องของศักดิ์ศรีและเสรีภาพ



Summer Palace



          สำหรับ Summer Palace (2006) ผลการกำกับของ หลูยี ในเรื่องนอกจากจะมีฉากรักที่โจ๋งครึมขัดกับวัฒนธรรมอันดีของจีนแล้ว ยังมีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง หนังเรื่องนี้บอกเล่าความเลวร้ายทางการเมืองที่ส่งผลกระทบกับคนในชาติทุกๆ ด้าน รัฐจึงมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นการตอกย้ำเหตุการณ์นองเลือดในการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หนังจึงถูกแบนตั้งแต่ตัวหนังจนผู้สร้างถูกห้ามสร้างหนังนานถึง 5 ปีทีเดียว บทลงโทษกลายเป็นการประจานประเทศจีนมากยิ่งขึ้นเมื่อหนังไปดังตามงานประกวดภาพยนตร์ต่างๆ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำรวจหนัง โดนแบน - ติดเรต ลูกกรงของผู้สร้างทั่วโลก อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:28:00 5,809 อ่าน
TOP
x close