รวมมิตรหนังโดนแบน 6 เรื่องด้วยเหตุผลสุดเพี้ยน ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
มาตรฐานความดีงามของหนังแต่ละเรื่อง ย่อมขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้คนหรือแนวคิดบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป เพราะเนื้อหาที่ชื่นชมกันในสังคมหนึ่ง อาจไม่เข้ากับพื้นเพหรือความเชื่อของอีกสังคมหนึ่งเสมอไป นำมาสู่การห้ามฉายด้วยเหตุผลน้อยใหญ่ตามแต่พิจารณา ซึ่งในวันนี้เรามีข้อมูลจากเว็บไซต์ Screenrant ที่กล่าวถึงหนังดังซึ่งเคยถูกห้ามฉายมาแล้วในหลายประเทศ แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นคือเหตุผลของการแบนที่สุดแสนจะงงงวยเสียเหลือเกิน เอาเป็นว่าไปดูเลยแล้วกันว่ามีเรื่องไหนเข้าท่าบ้าง
1. E.T. the Extra-Terrestrial (1982)
ผลงานสุดคลาสสิกของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ประสบปัญหาระหว่างการเข้าฉายในประเทศสวีเดน โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ในประเทศสวีเดน ออกกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 11 ขวบเข้าชมหนังเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาของ E.T. แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่เป็นศัตรูกับเด็กมากเกินไป ซึ่งฉากที่กลายเป็นประเด็นเห็นจะเป็นฉากเล็งปืนไปที่จักรยานที่กำลังทะยานขึ้นฟ้า และอันที่จริงไม่ว่าหนังเรื่องไหน ๆ ก็มีวายร้ายในทำนองนี้ทั้งนั้น จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจพอสมควรเมื่อ E.T. ต้องพบอุปสรรคด้วยเหตุผลนี้
2. The Simpsons Movie (2007)
ใครจะไปคิดว่าการ์ตูนที่อายุนานนับศตวรรษอย่าง The Simpsons จะถูกโยงเข้าหาเรื่องการเมืองเข้าจนได้ โดยในช่วงที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายในปี 2007 รัฐบาลพม่าสั่งแบนหนังเรื่องนี้โทษฐานที่ตัวละครในเรื่องมีผิวสีเหลือง เพราะถือเป็นตัวแทนของฝ่ายปฏิปักษ์อย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งมีธงสีเหลืองและแดงเป็นสัญลักษณ์ การแบนหนังเรื่องนี้มีเหตุผลผิดจากหนังเรื่องอื่น ๆ ที่มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ซึ่งอาจเกิดการปลุกระดมหรือสั่นสะเทือนอย่างไรก็ว่ากันไป
3. 2012 (2009)
จุดขายของหนังเรื่อง 2012 คือการฉายให้เห็นหายนะที่โจมตีโลกอย่างไม่ปราณี ซึ่งนั่นอาจสร้างความกังวลให้ทางการเกาหลีเหนือ จนต้องสั่งแบนหนังเรื่องนี้โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่เป็นมงคล เพราะในปี 2012 ถือเป็นปีครบรอบวันคล้ายวันเกิด 100 ปี ของผู้ก่อตั้งประเทศอย่าง คิม อิล ซุง (Kim Il Sung) ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทางการจึงตัดสินใจงดฉายภาพน้ำท่วม แผ่นดินไหว คนล้มตายเป็นเบือ ในปีอันเป็นมงคลแบบนี้
4. Blue Jasmine (2013)
แม้ความยอดเยี่ยมของหนังดราม่า Blue Jasmine จะสั่นสะเทือนเทศกาลแจกรางวัลอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นผลงานชิ้นโบแดงของผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน (Woody Allen) กลับพลาดโอกาสเข้าฉายในประเทศอินเดีย สาเหตุสำคัญมาจากฉากสูบบุหรี่ของตัวละครในเรื่อง ที่กฎหมายอินเดียกำหนดให้ขึ้นคำเตือนถึงโทษของบุหรี่ในฉากนั้น ๆ แต่ผู้กำกับไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะมองว่าข้อความจะดึงความสนใจจากคนดูออกจากตัวหนัง
5. Borat (2006)
นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ซาชา บารอน โคเฮน (Sacha Baron Cohen) รับบทเป็น โบรัต ผู้สื่อข่าวคาซัคสถานที่เดินทางไปถ่ายทำสารคดีไกลถึงอเมริกา แต่ด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงชาวคาซัคในทำนองดูถูกอย่างชัดเจน จึงทำให้หนังเรื่องนี้ถูกห้ามฉายในประเทศคาซัคสถานอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเนื้อหาอันอ่อนไหวของ Borat ยังทำให้หนังเรื่องนี้ถูกแบนในประเทศรัสเซีย เพราะเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศแถบอาหรับเกือบทั้งหมด (ยกเว้นเลบานอน) ยังพร้อมใจกันแบนหนังเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเยอรมนีที่เคยมีแผนแบนหนังเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าเนื้อหาบางส่วนเป็นการดูหมิ่นชาวยิปซี
6. The Interview (2014)
ด้วยเรื่องราวที่พาดพิงถึงประเทศเกาหลีเหนือโดยตรง จึงไม่ต้องแปลกใจหาก The Interview จะถูกทักท้วงจากทางการเกาหลีเหนือเมื่อผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน (Kim Jong Un) ถูกอ้างถึงในแง่ล้อเลียนอย่างชัดเจน เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ว่าด้วยคู่หูสื่อมวลชนจอมซ่า ที่ถูกมอบหมายภารกิจจาก CIA ให้ลอบสังหารผู้นำเกาหลีเหนือ เหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องนี้ร้ายแรงยิ่งขึ้นคือ เหตุแฮกข้อมูลของบริษัท Sony Pictures โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Guardians of Peace ออกมาอ้างความรับผิดชอบพร้อมขู่ว่าอาจมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นหากหนังเรื่องนี้ยืนยันเข้าฉายในช่วงคริสต์มาสตามเดิม และถึงแม้ความวิตกกังวลต่าง ๆ จะทำให้โรงหนังส่วนใหญ่ถอดหนังเรื่องนี้ออกจากโปรแกรม แต่ท้ายที่สุด The Interview ได้เข้าฉายแบบจำกัดโรงโดยไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น
เอาเป็นว่าในแต่ละที่ก็มีเหตุผลในการห้ามฉายหนังแตกต่างกันออกไป เราในฐานะคนดูก็ควรกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะหนังแต่ละเรื่องต่างมีข้อดีข้อเสียซ่อนอยู่ในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก E.T.Movie, เฟซบุ๊ก The-Simpsons, เฟซบุ๊ก 2012Movie, เฟซบุ๊ก BlueJasmine, เฟซบุ๊ก Borat, เฟซบุ๊ก TheInterview