เปิดความจริงเบื้องหลัง Everest จากการสูญเสียนักปีนเขา 8 ศพ สู่เรื่องราวสุดระทึกบนจอเงิน
โศกนาฏกรรมบนเทือกเขาเอเวอเรสต์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1996 ถูกหยิบมาสร้างเป็นหนังเรื่อง Everest ที่เข้าฉายในบ้านเราอยู่ตอนนี้ ความรุนแรงของเหตุการณ์เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 8 คน พร้อมบันทึกความจริงบางอย่างที่หนังไม่เคยพูดถึง ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาคุณไปพบกับข้อมูลดี ๆ จากเว็บไซต์ SheKnows และ เว็บไซต์ History vs Hollywood ที่บอกเล่าความจริงจากหนังเรื่อง Everest ที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน เราไปดูเลยดีกว่าว่ามีประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภูเขาเอเวอเรสต์
ความสูงของภูเขาเอเวอเรสต์อยู่ที่ 29,029 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล และได้รับการยกย่องเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก แต่ทราบหรือไม่ว่าภูเขาไฟมัวนาเคีย (Mauna Kea) ในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ มีความสูงถึง 33,474 ฟุตหากวัดจากผิวโลกใต้ทะเล ซึ่งถือเป็นความสูงที่มากกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์เสียอีก
ร็อบ ฮอลล์ ปีนเขาเอเวอเรสต์มาแล้ว 5 ครั้ง
ก่อนจะเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในปี 1996 หัวหน้าคณะนักปีนเขา ร็อบ ฮอลล์ (รับบทโดย เจสัน คล้าก) ผ่านการปีนเขาเอเวอเรสต์มาแล้ว 5 ครั้ง ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดานักปีนเขาที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น โดยร่างอันไร้วิญญาณของเขายังคงติดอยู่บนนั้นมาจนถึงทุกวันนี้
ร็อบ ฮอลล์ โทรศัพท์หาภรรยาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจริง ๆ
ดังเช่นเหตุการณ์ในหนังที่คุณได้ชมกันไปแล้ว ร็อบ ฮอลล์ โทรหาภรรยาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจริง ๆ ผ่านวิทยุที่เชื่อมต่อระบบดาวเทียม โดยเขาพูดประโยคสุดท้ายกับภรรยาว่า "ผมรักคุณ นอนหลับฝันดีนะที่รักของผม ไม่ต้องเป็นกังวลอะไรทั้งนั้น"
ร่างของ ร็อบ ฮอลล์ ถูกค้นพบโดยทีมถ่ายทำสารคดี IMAX
ไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุสลดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1996 ทีมถ่ายทำสารคดีเรื่อง Everest ค้นพบร่างของ ร็อบ ฮอลล์ ระหว่างเดินทางขึ้นสู่ยอดเขา นอกจากนี้ทีมถ่ายทำสารคดียังเดินทางผ่านศพของ สก็อต ฟิชเชอร์ (รับบทโดย เจค จิลเลนฮาล) ด้วยเช่นกัน
ภรรยาของ ร็อบ ฮอลล์ มีกำหนดร่วมภารกิจในปี 1996
แจน อาร์โนลด์ (รับบทโดย เคียร่า ไนท์ลีย์) ภรรยาของ ร็อบ ฮอลล์ เคยร่วมภารกิจปีนเขาเอเวอเรสต์มาแล้วเมื่อปี 1993 และอันที่จริงในปี 1996 เธอมีกำหนดร่วมเดินทางในครั้งนั้นเช่นกัน ก่อนตัดสินใจยกเลิกในภายหลังเนื่องด้วยภาวะตั้งครรภ์ โดยช่วงเวลาเพียง 2 เดือนหลังการเสียชีวิตของสามี เธอให้กำเนิดลูกสาวนามว่า ซาราห์
ศพเจ้าของรองเท้าบูทสีเขียว
มีศพร่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่นักปีนเขาว่า บูทเขียว (Green Boots) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศพของชายชาวอินเดีย เซวาง ปาลจอร์ (Tsewang Paljor) 1 ใน 8 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1996 เขาคนนี้คือตำรวจตระเวนชายแดนทิเบตอินโด (ITBP) ที่หมายเป็นผู้พิชิตทีมแรกของอินเดียจากเส้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในเวลาต่อมาร่างของเขาถูกใช้แทนหลักหมุดสำคัญในเส้นทางปีนเขา
มีศพราว 250 ร่าง หลงเหลืออยู่บนเขาเอเวอเรสต์
ด้วยสภาพอากาศอันเลวร้ายและปริมาณออกซิเจนบนเขาที่น้อยเกินไป จึงไม่มีวิธีการใดที่สามารถขนศพลงมาด้านล่างได้อย่างปลอดภัย (หากทำได้จริงค่าใช้จ่ายในการนำศพลงมาคงสูงมาก) โดยร่างส่วนใหญ่ติดอยู่บนบริเวณที่เรียกว่า Death Zone
ความอันตรายของ Death Zone
คำว่า Death Zone ถูกใช้อธิบายพื้นที่บนภูเขาที่สูงกว่า 8,000 เมตรขึ้นไป ซึ่งร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยระดับออกซิเจนจะลดเหลือเพียง 1 ใน 3 จากระดับน้ำทะเลปกติ ส่งผลให้คนที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเริ่มมีอาการเห็นภาพหลอน ระบบในร่างกายเริ่มทำงานล้มเหลว หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ Death Zone กระจายอยู่ 14 แห่งทั่วโลกรวมถึงเอเวอเรสต์
เฮลิคอปเตอร์บินไต่ระดับได้ถึง 25,000 ฟุตเท่านั้น ไม่สามารถไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ความสูง 29,029 ฟุตได้ อยากพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ต้องเดินเท้าต่อนะคับ #Everest
Posted by United International Pictures Thailand on 25 กันยายน 2015
การผ่าตัดดวงตาของ เบค เวเธอร์ส
หากอ้างอิงตามเรื่องราวในหนัง เบค เวเธอร์ส (รับบทโดย จอช โบรลิน) ร่างกายของเขาค่อนข้างสะบักสะบอมหลายจุด เนื่องจากฝ่ามรสุมความเย็นจัดของหิมะมาอย่างดุเดือด ไม่เว้นแม้กระทั่งดวงตาที่ถูกความเย็นของหิมะส่งผลกระทบให้การมองเห็นมีปัญหา แต่ในความเป็นจริงดวงตาของเขาเสียหายจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตเกินขนาด เนื่องจากสายตาเขาค่อนข้างอ่อนแอ จากการผ่าตัดกระจกตามาก่อนหน้านี้
ยังมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงกว่าในหนัง Everest
การสูญเสียนักปีนเขา 8 ชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1996 เทียบไม่ได้กับความร้ายแรงที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น โดยในเดือนเมษายน 2014 สถิติดังกล่าวถูกทำลายด้วยการเสียชีวิตของไกด์ชาวเนปาล 16 รายจากเหตุการณ์หิมะถล่มเหนือเบสแคมป์ และล่าสุดกับเหตุการณ์ แผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 ที่ส่งผลให้เกิดหิมะถล่มจนมีผู้เสียชีวิต 18 ศพ รวมถึง มาริสา อีฟ จิรวงศ์ แพทย์หญิงชาวไทยสัญชาติอเมริกันที่เสียชีวิตระหว่างภารกิจบนเทือกเขาเอเวอเรสต์
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ชมหนังเรื่อง Everest ยังพอมีเวลาให้คุณสัมผัสความตื่นเต้นได้แล้วทุกโรงภาพยนตร์ ส่วนใครที่อยากพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สักครั้งในชีวิต เราขอให้คุณโชคดีกับความฝันของคุณก็แล้วกัน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Everest, เว็บไซต์ Everest, เฟซบุ๊ก United International Pictures Thailand