รู้จักโปรเจกต์ Ten Years Thailand จาก 5 ผู้กำกับฝีมือดี สู่ 5 ภาพยนตร์นำเสนอและจำลองภาพเมืองไทยในอนาคต
เคยสงสัยกันบ้างไหม หน้าตาอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร ? หากคุณคือคนที่เคยตั้งคำถามเดียวกัน เราขอเชิญชวนให้มารู้จักกับ Ten Years Thailand โปรเจกต์รวมหนังสั้น สะท้อนภาพสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาวไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่านจินตนาการและศิลปะการสร้างภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจ แถมได้โอกาสฉายรอบปฐมทัศน์ไกลถึงเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 71 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561
โดย Ten Years Thailand มีจุดเริ่มต้นมาจาก Ten Years Hongkong ภาพยนตร์เล่าถึงอนาคตของฮ่องกงหลังเหตุการณ์ปฏิวัติร่ม (Umbrella Movement) ที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บแสบและประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย จนได้ส่งต่อ "คำถามถึงอนาคต" ไปยังหลายประเทศในเอเชียและเกิดเป็น "โปรเจกต์ Ten Years" เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นให้กับคนสร้างหนังรุ่นใหม่ ในประเทศไทย ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
สำหรับโปรเจกต์อนาคต 10 ปี ฉบับประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Film For Free กองทุนผลิตและพัฒนาภาพยนตร์อิสระ ภายใต้การดูแลของสองโปรดิวเซอร์ใหญ่ โสฬส สุขุม และคัทลียา เผ่าศรีเจริญ ได้ตัวผู้สร้างหนังเจ้าของรางวัลมากมายมาเป็นผู้นำการเดินทางเตรียมพาทุกคนข้ามเวลาไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่านหนัง 5 เรื่อง ได้แก่ Sunset โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์, Catopia โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, Planetarium โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล, Song of the city โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ The Cave โดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
สิ่งที่น่าสนใจคือหนังทั้ง 5 เรื่องแฝงตัวตนและกลิ่นอายของ 5 ผู้กำกับออกมาได้อย่างชัดเจน เริ่มต้นด้วย Sunset กับประเด็นความขัดแย้งระหว่างศิลปินผู้วาดรูปเสียดสีสังคมและทหารผู้ได้รับคำสั่งให้มาตรวจสอบนิทรรศการแสดงภาพเหล่านั้น, Catopia กับประเด็นอัตลักษณ์ของมนุษย์ในสังคมที่ถูกยึดครองโดยแมวฝูงใหญ่, Planetarium กับประเด็นความหวาดกลัวต่อการแปลกแยกจากกระแสหลักในสังคมที่ถูกนำโดยเจ้าลัทธิ, Song of the City กับประเด็นคำถามว่าทำไมเสียงเรียกร้องของประชาชนถึงไม่มีใครได้ยินและตอบรับกันเสียที ปิดท้ายด้วย The Cave กับประเด็นความเชื่อที่สามารถยึดเหนี่ยวผู้คนเอาไว้แม้จะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อสังคม