x close

"เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" ครั้งแรกของประเทศไทย

          โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เตรียมจัด "เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศไต้หวัน
          กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เตรียมจัด "เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศไต้หวัน พร้อมสร้างการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การดำรงชีพของชาวไต้หวันผ่านทางแผ่นฟิล์ม โดยเทศกาลนี้ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จ พัฒนาจากโปรเจคท์ภาพยนตร์สารคดีที่ เอส เอฟ ร่วมกับ ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ ทำต่อเนื่องและประสบความสำเร็จมากว่า 4 ปี ภายในเทศกาลฯ คัดสรรภาพยนตร์สารคดีคุณภาพที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความหลากหลายของวัฒนธรรมจากประเทศไต้หวันจำนวน 8 เรื่อง พร้อมบทบรรยายภาษา ไทย-อังกฤษ มาให้คอภาพยนตร์ได้ร่วมชม ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาที่นั่งละ 140 บาท สำหรับที่นั่ง Deluxe Seat และราคา 160 บาท สำหรับที่นั่ง Premium Seat

          ผลงานภาพยนตร์น่าจับตามองจากประเทศไต้หวันจำนวน 8 เรื่อง เริ่มต้นที่ภาพยนตร์เปิดเทศกาล "Small Talk" ผลงานที่ชนะรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีที่ผ่านมา โดยตัวผู้กำกับได้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัวตนเอง ระหว่างแม่และลูกที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันแต่เปรียบเสมือนคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน จนกระทั่งตัวผู้กำกับตัดสินใจจะรวบรวมความกล้าชวนแม่ของเธอมานั่งพูดคุยเปิดใจ เพื่อเผยความลับอันหนักอึ้งที่ผู้เป็นแม่เลือกจะเก็บไว้เพียงลำพังจนสร้างระยะห่างในความสัมพันธ์ของแม่และลูก โดยเรื่องราวถูกบันทึกไว้ผ่านกล้องของเธอ

          "Time Splits in the River" เรื่องราวของสี่ศิลปินที่ชวนพ่อแม่ตัวเองมารับบทผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไต้หวันในช่วงทศวรรษ 1980 โดยทุกคนต้องตระเตรียมตัวสำหรับบทบาทด้วยการดูฟุตเตจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น และแม้จะไม่มีคนใดเลยในกลุ่มพวกเขาเคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับการประท้วงมาก่อน ทว่าการได้เห็นและได้สนทนาถึงมันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ก็ทำให้พวกเขาค่อยๆ ซึมซับมันหลอมรวมเข้ากับอดีตของตนเองอย่างช้าๆ

          "Le Moulin" ภาพยนตร์สารคดีที่ชนะรางวัลจากเวทีเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ หรือ Golden Horse Film Festival ปี 2016 ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ เป็นเรื่องราวหลังจากสี่สิบปีภายใต้เจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น กลุ่มศิลปินโมเดิร์นกลุ่มแรกของไต้หวันในนาม 'สมาคมกวีกังหันลม' (Le Moulin Poetry Society) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930 พร้อมกับบทกวีเพื่อการต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม โดยมีศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์เป็นต้นแบบหลัก กวีกลุ่ม Le Moulin ก่อร่างบทกวีของพวกเขาด้วยลีลาแห่งความซับซ้อนและไม่ประนีประนอม เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับช่วงเวลาโกลาหลที่พวกเขามีชีวิตอยู่ โดย "Le Moulin" สารคดีทดลองที่ประกอบขึ้นจาก ฟุตเตจเก่า ภาพถ่าย บทกวี ถ้อยแถลง ร้อยเรียงกันอย่างไร้ระเบียบราวกับการบันทึกด้วยจิตไร้สำนึก ซึ่งสอดรับกับพลังของการต่อต้านระบบของที่เป็นเหมือนหัวใจหลักของหนังอย่างงดงาม

          "Sunflower Occupation" ภาพยนตร์สารคดีเรื่องราวในปี 2014 ระหว่างการประท้วงเพื่อต่อต้าน ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ ซึ่งได้รัการอนุมัติอย่างรวดเร็วผิดสังเกต กลุ่มของผู้ประท้วงบุกเข้ายึดรัฐสภาไต้หวันเป็นเวลาถึง 24 วัน หลังจากผู้ชุมนุมบุกเข้าไปทางประตูด้านข้างของสภานิติบัญญัติ ความลับดำมืดก็ได้ถูกเปิดเผยคำถามที่เป็นแกนกลางสำคัญก็คือ อะไรคือประชาธิปไตย? อะไรคือรัฐ? อะไรคือความรุนแรง? อะไรคืออนาคต? อะไรคือความสุขที่เราไขว่คว้า และ 'เรา' คือใคร?

          นี่คือสารคดีสั้นเก้าเรื่องที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนทำสารคดีในไต้หวัน ในนามของ Docunion ที่ส่งคนทำหนังสารคดีไปติดตามการชุมนุมจากมุมมองที่แตกต่างกัน จากแง่มุมที่แตกต่างกัน จากนั้นนำทั้งหมดมาเชื่อมร้อยเข้าหากันเพื่อฉายภาพการชุมนุมที่ไม่ได้มีแค่มิติเดียวจากจุดใดจุดหนึ่ง ความหลากหลายที่น่าตื่นตาตั้งแต่ ยุทธวิธีไปจนถึงความคิดแกนกลางของแต่ละคน

          "The Silent Teacher" ในไต้หวันนั้น ร่างกายของผู้บริจาคที่นำมาใช้ในการสอนกายวิภาคนั้นจะถูกเรียกว่า 'อาจารย์เงียบ' (The Silent Teacher) ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของคุณนายหลิน ผู้ซึ่งร่างกายของเธอจะถูกนำมาใช้ผ่าในการสอนในปีถัดไป คุณนายหลินกำลังจะกลายเป็นอาจารย์เงียบทั้งกับเหล่านักศึกษาแพทย์และกับในขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนให้ครอบครัวของเธอเองได้รู้จักความหมายของชีวิต

          นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีมาให้เลือกชม อาทิ "The Immortal’s Play" ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของนางเอกละครงิ้ว, "The Mountain" เรื่องราวของชายนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิจากยุคล่าอาณานิคม และ "Stranger in the Mountains" ถาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของเหล่าลูกหลานของกองกำลังชาตินิยมก๊กมินตั๋งที่ยังหลงเหลืออยู่

          สำหรับ "เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" จะจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2561 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในราคาที่นั่งละ 140 บาท สำหรับที่นั่ง Deluxe Seat และราคา 160 บาท สำหรับที่นั่ง Premium Seat โดยผู้ชมสามารถเช็ครอบฉายพร้อมซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในเทศกาลผ่าน www.sfcinemacity.com และแอพพลิเคชั่น SF Cinema ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 02-268-8888 เว็บไซต์ www.sfcinemacity.com และ www.facebook.com/Welovesf หรือเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ที่หน้าโรงภาพยนตร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
"เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันกรุงเทพฯ" ครั้งแรกของประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2561 เวลา 15:41:20 1,662 อ่าน
TOP