เรื่องย่อ นางนาก

ความตาย มิอาจพรากหัวใจรักแห่งนาง

Mono Film

นางนาก (20 ปี)

เข้าฉาย: 25-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

นำแสดง: อินทิรา เจริญปุระ, วินัย ไกรบุตร

กำกับ: นนทรีย์ นิมิบุตร

เขียนบท: วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

ออกแบบงานสร้าง: เอก เอี่ยมชื่น
 

          นาก หญิงสาวแห่งพระโขนง ต้องจำจากอาลัย มาก ผัวรักที่ต้องไปรบในพระนคร นากมิอาจรู้ว่าการบอกลาครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อนากสิ้นลมขณะคลอด แดง ก่อนที่มากจะกลับมา วิญญาณของนากจึงเฝ้ารอมากทุกวันหวังว่าจะได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ แม้มันเป็นเพียงแค่ชั่วเวลาไม่กี่วันก็ตามที แต่ด้วยความเป็นห่วงของชาวบ้านที่มากจะต้องอยู่ร่วมชายคากับผีทำให้นากออกอาละวาดทุกคนที่พยายามพลัดพรากคนรักจากนากไป

เบื้องหลังงานสร้าง

Mono Film

          นี่เป็นผลงานลำดับที่สองของ นนทรีย์ นิมิบุตร หลังจากความสำเร็จของ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ โดยเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของสามขุนพลผู้ช่วยกันพาให้หนังเรื่องแรกประสบความสำเร็จมาด้วยกัน คือ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในฐานะคนเขียนบท และ เอก เอี่ยมชื่น ผู้ออกแบบงานสร้าง เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับตำนานแม่นาค อันมีภาพจำอันแข็งแกร่งต่อคนไทยมานับร้อยปี แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือหนังเปรียบเสมือนการสร้างตำนานบทใหม่ให้กับเรื่องเล่าสยองขวัญนี้ไปโดยปริยาย จากการทำการบ้านด้านข้อมูลอย่างหนักหน่วงเพื่อเชื่อมโยงเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้มากที่สุด
          ในกระบวนการสร้างการรับรู้ใหม่ให้ตำนานแม่นาคนี้ นอกจากเปลี่ยนชื่อ “นาค” เป็น “นาก” ตามความน่าจะเป็นของยุคสมัย ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของนางนาก จากผีสาวผมยาวสวมชุดไทย มาเป็นหญิงสาวในผมทรงดอกกระทุ่ม ผิวกร้านจากการกรำแดด ฟันดำด้วยการกินหมากที่เป็นความนิยมของคนร่วมยุคนั้นที่เชื่อว่าฟันขาวเป็นฟันของสุนัข จึงเป็นการเรียกร้องความทุ่มเทของทีมงานและนักแสดงทั้งหมดเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้อันผิดเพี้ยนไปจากภาพเก่า ๆ ที่คนไทยคุ้นเคย

Mono Film

          และเพื่อสร้างบรรยากาศอันขรึมขลังให้กับเรื่องราว “นางนาก” ยังมาพร้อมพิธีกรรมและความเชื่อโบราณของคนไทย ที่ปกคลุมไปทั่วทุกอณูของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเกี่ยวกับคนตาย การทำคลอด และลางร้ายต่าง ๆ รวมไปถึงงานสร้างที่เนรมิตบ้านใหม่ขึ้นเพื่อถ่ายทำโดยเฉพาะ โดยเลือกทำเลริมน้ำอันไร้ซึ่งเสาไฟฟ้าและไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องนั่งเรือเข้าไปยังสถานที่ถ่ายทำเท่านั้น ก่อนที่จะทำลายบ้านหลังนั้นลง ซึ่งสอดรับกับท้องเรื่อง
          นนทรีย์วางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้คนดูจดจำอะไรจากหนัง ดังนั้นจึงมีการออกแบบอย่างละเอียดตั้งแต่บท งานสร้าง ไปจนกระทั่งการกำกับ หนึ่งในนั้นคือ ‘ท่าน้ำ’ โดยนนทรีย์เล็งเห็นว่าท่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของการจากลาและเฝ้ารอคนรัก จึงมีการออกแบบให้นางนากมารอพี่มากที่ท่าน้ำทุกวัน ๆ นับแต่วันแรกที่แยกทางจนกระทั่งอุ้มลูกยืนเฝ้ารอการกลับมาเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ นั่นหมายความว่านางนากได้ผ่านช่วงเวลาของความตายมาแล้ว บรรยากาศที่ท่าน้ำจึงทั้งเศร้าสร้อยและชวนขนลุกไปพร้อมกัน

เกร็ดภาพยนตร์

Mono Film

          1. หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และทำรายได้เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 150 ล้านบาท

          2. “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท สร้างปรากฏการณ์ “โรงเต็ม” ทุกที่นั่ง ในแทบทุกโรงที่เข้าฉาย

          3. “นางนาก” สามารถล้างภาพลักษณ์ของตำนาน “แม่นาคพระโขนง” ได้จริง โดยเฉพาะหนังที่เกี่ยวกับตำนานดังกล่าวหลังจากนั้น จะมีความเชื่อมโยงกับ “นางนาก” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การรอคอยที่ท่าน้ำ, ตัวละครอ่ำ เพื่อนของมาก, ตัวละคร สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ซึ่งมีตัวตนจริง, การเจาะกะโหลกคนตายสะกดวิญญาณ และฉากนางนากห้อยหัว ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกใน “นางนาก” ทั้งสิ้น

          4. “นางนาก” ทำให้หนังไทยหลังจากนั้นให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชมากขึ้น โดยเฉพาะหนังที่เล่าเรื่องย้อนยุคและมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จนสามารถกู้คืนวิกฤตศรัทธาให้กับหนังไทยได้สำเร็จ

          5. “นางนาก” เป็นหนังไทยเรื่องแรก ๆ ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศ และได้เข้าฉายในอีกหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง และสเปน

Mono Film

          6. ยังไม่มีข้อสรุปว่าตำนานแม่นาคพระโขนงเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่าตำนานเกิดมาจากละครใน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับหญิงตายทั้งกลมคนหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมาก โดยทีมผู้สร้าง “นางนาก” พัฒนาต่อ คือการหยิบตำนานดังกล่าวมาผูกโยงเข้ากับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่จริง

          7. อินทิรา เจริญปุระ และวินัย ไกรบุตร เวิร์กช็อปการใช้ชีวิตแบบชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่การถอดรองเท้าเดิน การนุ่งโจงกระเบน การสานปลาตะเพียน กินหมาก และอีกมากมาย จนสามารถเข้าฉากเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านได้อย่างรื่นไหล

          8. ดนตรีประกอบ “นางนาก” เสร็จก่อนที่หนังจะเริ่มถ่ายทำ ทำให้ นนทรีย์ และทีมงาน มองเห็นภาพร่วมกันว่ากำลังพยายามทำอะไรอยู่

          9. ขณะถ่ายทำ ทีมงานพร้อมใจกันตัดผมทรงดอกกระทุ่มเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน และเมื่อถ่ายทำเสร็จ นนทรีย์และทีมงานส่วนหนึ่งเข้าพิธีอุปสมบท เนื่องจากมีการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมากขณะถ่ายทำ

          10. “นางนาก” ได้รับการบันทึกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2547 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องย่อ นางนาก อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2562 เวลา 10:59:15 15,032 อ่าน
TOP
x close