x close

ลงทะเบียน เยียวยาคนทำหนัง รับเงิน 15,000 ใครได้บ้าง - ทำอย่างไร ดูเลย

          สมาพันธ์ภาพยนตร์ และเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) จัดตั้งกองทุนเยียวยาโควิด 19 ให้ฟรีแลนซ์อุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ คนละ 15,000 บาท วงเงินสนับสนุน 16 ล้านบาท


          วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เว็บไซต์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ รายงานว่า สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ประกาศความร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์ เพื่อจัดตั้ง "กองทุนเยียวยาโควิด-19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์" ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือกับบุคลากรในวงการดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
          โรคโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยทั้งกองถ่ายทำภาพยนตร์-ละครและการผลิตรายการโทรทัศน์จำนวนมากต่างต้องหยุดชะงักลง ทำให้ทั้งนักแสดงและบุคลากรเบื้องหลังจำนวนมากต้องหยุดงานและขาดรายได้ ด้วยเหตุนี้ ทางสมาพันธ์ภาพยนตร์จึงได้ร่วมมือกับเน็ตฟลิกซ์ ก่อตั้งกองทุนเยียวยาสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์นี้ โดยในโอกาสนี้ ทางเน็ตฟลิกซ์ได้ร่วมสนับสนุนเงินทุนเป็นจำนวน 16 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้จะเปิดให้ลูกจ้างอิสระและผู้ที่ทำงานเป็นรายโปรเจกต์ เช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ควบคุมไมค์บูม และตำแหน่งอื่น ๆ ในกองถ่ายภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในประเทศไทย ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือผ่านช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

          รายละเอียดของกองทุนเยียวยา Covid 19 สำหรับลูกจ้างอิสระในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ มีดังนี้
 
          คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน : ต้องเป็นลูกจ้างอิสระ (Freelance) ในกระบวนการการผลิตภาพยนตร์ หรือละครโทรทัศน์ในไทย โดยสามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่างานที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหรือเลื่อนการผลิตออกไปนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา (ช่วงเวลาเดียวกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต้องไม่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานให้กับสายการผลิตของเน็ตฟลิกซ์อยู่ ณ เวลานี้ หรือได้รับเงินเยียวยาจากเน็ตฟลิกซ์ก่อนหน้านี้ และเป็นผู้ถือสัญชาติไทยหรือผู้มีถิ่นพํานักถาวรในประเทศไทย

กองทุนเยียวยาโควิด 19

          โดยลูกจ้างอิสระที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยา มีดังต่อไปนี้

          - ฝ่ายแอนิเมชั่นและวิชวลเอฟเฟกต์ : ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น 2D/3D แอนิเมเตอร์ นักวาดสตอรี่บอร์ด นักวาดคอนเซ็ปต์อาร์ต ช่าง2D/3D VFX นักตัดต่อ VFX ผู้ประสานงานฝ่าย VFX ผู้ช่วยช่างเทคนิคฝ่าย VFX และอื่น ๆ

          - ฝ่ายศิลป์ : ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบฉาก ผู้จัดการอุปกรณ์ประกอบฉากหน้ากอง ทีมงานฝ่ายจัดสร้างฉาก ทีมงานช่างก่อสร้าง ผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ และอื่น ๆ

          - ฝ่ายเครื่องแต่งกาย/แต่งหน้า : ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยฝ่ายเครื่องแต่งกาย ผู้ช่วยฝ่ายแต่งหน้า ผู้ช่วยฝ่ายทำผม และอื่น ๆ

          - ฝ่ายบริหารจัดการกองถ่าย : ลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยประจำกองถ่าย ผู้ช่วยผู้กำกับที่สองและที่สาม ผู้ช่วยฝ่ายบัญชี แคชเชียร์ประจำกองถ่าย ผู้ช่วยฝ่ายสถานที่ และผู้ช่วยฝ่ายจัดหานักแสดง คนขับรถประจำกองถ่าย ผู้ช่วยด้านสวัสดิการ และอื่น ๆ

          - ฝ่ายโพสต์โปรดักชั่น : ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้ประสานงานฝ่ายโพสต์ ผู้ช่วยนักตัดต่อ ผู้ช่วยฝ่ายเสียง ผู้ช่วยนักปรับแต่งสี ผู้แปลสคริปต์ และอื่น ๆ

          - ฝ่ายงานเทคนิค : ผู้มีอาชีพรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างเช่น ผู้เก็บบันทึกไฟล์งาน ผู้ควบคุมไมค์บูม ช่างไฟ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพที่สองและที่สาม ผู้ช่วยช่างถ่ายภาพนิ่งประจำกองถ่าย ทีมงานช่างไฟและผู้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ

สำหรับวิธีลงทะเบียนนั้นสามารถดาวน์โหลดใบลงทะเบียนได้ >> ที่นี่ <<

          สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2563 เวลา 23.59 น. หรือจนกว่าจะมีผู้สมัครเต็มตามกำหนด ทั้งนี้ การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผู้รับสิทธิ์การเยียวยาของสมาพันธ์ภาพยนตร์ถือเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้น การยื่นใบลงทะเบียนและเอกสารต่าง ๆ ตามลําดับเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่หลักประกันว่าผู้ลงทะเบียนจะต้องได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด

          ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับการติดต่อจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทาง SMS และอีเมล ถึงผลการพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ หลังการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยจะได้รับยอดเงินบริจาคจำนวน 15,000 บาท ต่อ 1 ผู้สมัคร

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6439100 หรืออีเมล info@mpc.or.th


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลงทะเบียน เยียวยาคนทำหนัง รับเงิน 15,000 ใครได้บ้าง - ทำอย่างไร ดูเลย อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2563 เวลา 16:38:36 11,499 อ่าน
TOP