เปิดรายชื่อหนังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566 จำนวน 10 เรื่อง มีหนังไทยเรื่องอะไรบ้างมาติดตามกันเลย
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
หอภาพยนตร์ ประกาศ 10 รายชื่อหนังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 2566 มีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา, หนังท่านมุ้ย เทวดาเดินดิน, หนัง LGBTQ เพลงสุดท้าย และ หัวใจทรนง, หนังร่วมทุนสร้างกับฮ่องกง กตัญญูปกาสิต, หนังชีวประวัติ 14 ตุลา สงครามประชาชน, หนังซอฟต์พาวเวอร์ไทยยุคบุกเบิก Thailand เป็นต้น
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศ 10 รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2566 ทั้งหนังเรื่องและหนังสารคดี จากการคัดเลือกโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาอาชีพ และได้รับการเสนอจากประชาชน รวม 351 เรื่อง ซึ่งพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์คุณค่า ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อิทธิพลต่อสังคม วัฒนธรรม และศิลปะ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 10 เรื่องที่ได้รับขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 13
รายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2566
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
หนังไทยทั้ง 10 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีนี้ ครอบคลุมหลากหลายมิติทางสังคม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงรากฐานวัฒนธรรมภาพเคลื่อนไหวอันแข็งแรงของผู้สร้างไทย ดังนี้
1. ปักธงไชย (2500)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
ปักธงไชย สร้างโดยบริษัท ละโว้ภาพยนตร์ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถือเป็นผลงานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของพระองค์ ผู้ทรงเป็นนักทำหนังที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทย และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เล่าถึงสงครามปราบฮ่อ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการรบแบบโบราณกับการรบแบบใหม่ของกองทัพไทยที่ได้รับการฝึกจากครูฝึกชาวยุโรป เล่าเรื่องราวในปี 2428 ของคณะทหารไทยที่ต้องปฏิบัติการลับจัดส่งยาและกระสุนปืนใหญ่ไปให้แก่ทัพไทยที่กำลังถูกข้าศึกล้อมอยู่
2. Thailand (2501)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
Thailand ภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่รัฐบาลไทยจัดทำเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ผู้ชมในโลกตะวันตก การฉายให้เห็นนาฏศิลป์ร่ายรำต่าง ๆ สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญ ตลอดจนการละเล่นและประเพณีต่าง ๆ นับว่าเป็นมาตรฐานการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สายตาคนต่างชาติตลอดจนทุกวันนี้ ไทยแลนด์ และ นิ้วเพชร เป็นภาพยนตร์ 2 เรื่องแรกของกรมศิลปากร ที่ต่างได้รับความสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์และหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสถานทูตไทยในหลายประเทศก็นำไปใช้ในการเผยแพร่แนะนำประเทศไทยอยู่เสมอ
3. กตัญญูปกาสิต (2501)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
กตัญญูปกาสิต หนังร่วมทุนไทย-ฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างแดน เล่าเรื่องราวที่ได้เค้าโครงเรื่องมาจากบันทึกการสอบสวนของ พล.ต.อ. เยื้อน ประภาวัต ในคดีฆาตกรรม เหียกวงเอี่ยม นักธุรกิจชาวจีนผู้มีบทบาทสำคัญในเมืองไทย เมื่อปี 2482 ที่ออกฉายก็ได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องสำคัญในความทรงจำของสังคมไทย และได้รับความนิยมอย่างมากที่ฮ่องกง นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างให้เห็นความสามารถของยอดฝีมือแห่งวงการหนังไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง ครูเนรมิต ผู้กำกับ ส. อาสนจินดา ผู้เขียนบท และบรรดานักแสดงชั้นครู
4. โกนจุก (2510)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
โกนจุก (2510) หนังสารคดีเก่าที่เป็นภาพบันทึกพิธีโกนจุก ซึ่งเป็นพิธีกรรมในวิถีชีวิตของสังคมไทยสมัยก่อน บอกเล่าได้อย่างละเอียดครบถ้วนตามประเพณีทั้งคติพราหมณ์และพุทธ
5. วันมหาวิปโยค (2516)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
วันมหาวิปโยค เป็นหนังที่บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ นักข่าวภาพยนตร์อิสระ ได้ถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้
6. เทวดาเดินดิน (2519)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
ในขณะที่เรื่อง เทวดาเดินดิน โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นหนังที่จับภาพวัยรุ่นไทยในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างเข้มข้น เป็นทั้งหนังสะท้อนสังคมและหนังแอ็คชั่น-ผจญภัยไปพร้อม ๆ กัน
7. สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่กลับออกจากป่า (2528)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
หนังเรื่องนี้เป็นฟุตเทจหายากที่ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวที่ออกจากป่าหลังจากไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่น จิระนันท์ พิตรปรีชา, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, เหวง โตจิราการ, เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, คณะวงดนตรีคาราวาน และชาวบ้านคนอื่น ๆ ไกรศักดิ์ตั้งใจจะตัดต่อฟุตเทจเป็นสารคดี แต่ทำไม่เสร็จสิ้น คงเหลือไว้แต่ฟุตเทจที่มีความยาวกว่า 11 ชั่วโมง
นับว่ามีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยในยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็นอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปจนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การเข้าป่าร่วมการต่อสู้ปฏิวัติประเทศไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย จนสิ้นสุดการต่อสู้ นอกจากให้ข้อมูลแล้ว ยังสามารถให้ความคิด อารมณ์ความรู้สึก ที่ไม่อาจบันทึกไว้ได้อีกแล้วถ้ามิได้ทำไว้ในเวลานั้น
8. เพลงสุดท้าย (2528)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
เพลงสุดท้าย หนัง LGBTQ ที่แสดงความหลากหลายทางเพศของไทยที่ส่งอิทธิพลต่อเนื่องอย่างกว้างขวางยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน กำกับโดย พิศาล อัครเศรณี ด้วยเนื้อหาที่นำเสนอตัวละคร “กะเทย” หรือ หญิงข้ามเพศในปัจจุบันที่ประกอบอาชีพนางโชว์คาบาเรต์เป็นตัวเอก และการนำเสนอประเด็นความรักความสัมพันธ์ของคนหลากหลายทางเพศเป็นหลัก แม้ว่าก่อนหน้าและหลังจากผลงานเรื่องนี้จะมีภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทอดเรื่องความรักของคนหลากหลายทางเพศที่ต้องประสบความผิดหวังหรือโศกนาฏกรรมถึงชีวิต แต่ปรากฏการณ์ความนิยมที่เกิดขึ้นทำให้ เพลงสุดท้าย กลายเป็นความทรงจำร่วมของสังคมในฐานะหมุดหมายสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย และส่งอิทธิพลต่อเนื่องอย่างกว้างขวางยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
9. 14 ตุลาสงครามประชาชน (2544)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
14 ตุลาสงครามประชาชน ภาพยนตร์ชีวประวัติของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บุคคลสำคัญทางการเมืองในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ไทย ผลงานการกำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เป็นหนังชีวประวัติบุคคลสำคัญทางการเมืองซึ่งมีอยู่น้อยนิดในภาพยนตร์ไทย ที่แสดงความกล้าหาญในการใช้แรงโน้มถ่วงของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผนวกเข้ากับศิลปะภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องของตัวละครที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงแค่ชื่อที่เราอ่านในข่าวหรือหนังสือ ประกอบสร้างเป็นงานที่พาคนดูเข้าไปปะทะกับช่วงเวลาอันแหลมคม ชวนให้สัมผัสและเข้าอกเข้าใจความสับสนของตัวละครหลักทุกคน
10. หัวใจทรนง (2546)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
หัวใจทรนง งานกำกับร่วมของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ไมเคิล เชาวนาศัย กับเรื่องราวของสายลับไออ้อน พุซซี่ งานที่คารวะสุนทรียศาสตร์ของหนังไทยยุค 16 มม. พร้อมไปกับการสร้างอารมณ์ขันสำหรับผู้ชมร่วมสมัย
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive
ทั้งนี้ หอภาพยนตร์ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554 รวมปีนี้อีก 10 เรื่อง ทำให้มีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 243 เรื่อง ซึ่งหอภาพยนตร์เตรียมนำภาพยนตร์เหล่านี้ออกฉายตามช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในโรงภาพยนตร์, Facebook, YouTube, TikTok ของหอภาพยนตร์ รวมถึงการจัดงานเสวนาถึงภาพยนตร์ และการให้บริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.fapot.or.th หรือที่ เฟซบุ๊กช่อง หอภาพยนตร์ Thai Film Archive