20 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ Interstellar ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Interstellar, ทวิตเตอร์ @dcgundogdu
เผยเบื้องหลังที่น่าสนใจกับ 20 เรื่องที่คุณจะต้องทึ่งเกี่ยวกับ Interstellar พร้อมเกร็ดความรู้ที่คุณอาจไม่ทราบมาก่อน
หากพูดถึงหนังที่มาแรงที่สุด ณ เวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าหนังเรื่อง Interstellar ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) นั้นน่าจับตามองมากจริง ๆ เพราะผลงานชิ้นนี้เต็มไปด้วยทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบหนังได้อย่างสมจริง แถมยังนำแสดงโดยดาราแถวหน้ามากมายอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้เราจึงได้รวบรวม 20 เรื่องที่น่าสนใจของหนังเรื่อง Interstellar จากเว็บไซต์ IMDb ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เหมาะสำหรับใครก็ตามที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วปลื้มสุด ๆ หรือใครที่ยังไม่ได้ดูก็สามารถอ่านเพื่อเป็นความรู้ไปก่อนได้เช่นกัน แต่ระวังนะ ! เพราะเรามีสปอยล์ในตอนท้ายด้วย
ดร.คิพ ธอร์น (Kip Thorne) เจ้าของทฤษฏีฟิสิกส์ที่ถูกอ้างถึงในเรื่อง ต้องร่วมมือกับทีมสร้างวิชวลเอฟเฟกต์ในการสร้างภาพรูหนอนและหลุมดำให้สมจริง โดยเขายื่นแผ่นกระดาษที่เต็มไปด้วยทฤษฏีเพื่อให้ทีมงาน นำไปสร้างเป็นโปรแกรม CGI ที่จะใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ โดยบางฉากต้องใช้เวลานานกว่า 100 ชั่วโมงในการสร้างและกินเนื้อที่กว่า 800 เทราไบต์ แต่ผลที่ได้คือข้อสรุปเรื่องผลกระทบของเลนส์ความโน้มถ่วงและจานรวมมวลบริเวณรอบหลุมดำ ซึ่งต่อยอดให้ ดร.คิพ ธอร์น นำไปเขียนเป็นรายงานได้อีก 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งสำหรับแวดวงนักดาราศาสตร์ และอีกชิ้นสำหรับทีมสร้างกราฟิก
รูหนอน (Wormholes)
หลุมดำ (Black Holes)
ดร.คิพ ธอร์น ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ด้วย
เมื่อปี 2006 สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ได้รับการทาบทามให้กำกับหนังเรื่องนี้ พร้อมด้วย โจนาธาน โนแลน (Jonathan Nolan) ที่คว้าตำแหน่งผู้เขียนบท แต่หลังจากนั้นในปี 2012 สปีลเบิร์กตัดสินใจวางมือแล้วหันไปทำหนังเรื่องอื่น จึงเป็นสาเหตุให้ คริสโตเฟอร์ โนแลน เสียบแทนเก้าอี้ผู้กำกับโดยคำแนะนำของ โจนาธาน โนแลน ผู้เป็นน้องชาย
ในบทเวอร์ชั่นของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ภารกิจของคูเปอร์จะเกิดขึ้นบนดาวน้ำแข็งเพียงแห่งเดียว
คริสโตเฟอร์ โนแลน เริ่มสนใจการแสดงของ แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) นับตั้งแต่เห็นผลงานของเขาในเรื่อง Mud โดยโนแลนกล่าวว่าเขาคือนักแสดงที่มีคุณสมบัติตรงตามที่วาดฝันเอาไว้ นั่นคือการเป็นชาวเท็กซัสแท้ ๆ
ในการทาบทาม เจสสิกา แชสเทน (Jessica Chastain) ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ต้องส่งตัวแทนไปพบในขณะที่เธอกำลังถ่ายหนังเรื่อง Miss Julie ในประเทศไอร์แลนด์ โดยเธอได้รับบทที่มีชื่อของตัวเองประทับลายน้ำอยู่บนนั้น และต้องเก็บมันเป็นความลับ
ฟุตเทจการให้สัมภาษณ์ที่ปรากฏในช่วงต้นและท้ายของหนัง ถูกทำขึ้นเพื่อประกอบหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่มันถูกแต่งเติมด้วยเทคนิคพิเศษที่ทำให้ดูเก่ากว่าความเป็นจริง
ในบทฉบับดังเดิมของ Interstellar ระบุว่า คาแรคเตอร์ เมิร์ฟ คือเด็กผู้ชาย ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นเด็กผู้หญิงดังเช่นปัจจุบัน
นวนิยายเรื่อง The Stand ของ สตีเฟ่น คิง (Stephen King) ถูกวางอยู่บนชั้นหนังสือของเมิร์ฟ โดยหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใกล้สูญพันธุ์ของมนุษย์ และการเอาตัวรอดด้วยการหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ซึ่งคล้ายกับเรื่องราวของ Interstellar
เบื้องหลังการสร้างพายุฝุ่นบนพื้นโลก เกิดจากการใช้พัดลมเป่าฝุ่นที่ผลิตจากเซลลูโลสสังเคราะห์ให้ลอยขึ้นในอากาศ
ภาพเบื้องหลังการสร้างพายุฝุ่น จากคลิป Interstellar - Practical Locations โพสต์โดย Warner Bros. Thailand
กระดาษและปากกาที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์รูหนอน เป็นแบบเดียวกับที่ปรากฏในหนังไซไฟเรื่อง Event Horizon เมื่อปี 1997 แบบเป๊ะ ๆ
หนังเรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า Flora\'s Letter ซึ่งตั้งตามชื่อของ ฟลอร่า โนแลน (Flora Nolan) ลูกสาวของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน
แอนน์ แฮททาเวย์ (Anne Hathaway) ประสบกับสภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ระหว่างการถ่ายทำในประเทศไอซ์แลนด์ เนื่องจากชุดอวกาศที่เธอสวมดันเปิดออกขณะอยู่ในน้ำเย็น
ผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ใส่ใจเรื่องความสมจริงของสิ่งแวดล้อมในหนัง โดยเขามีทีมตกแต่งภายในที่สร้างฉากขึ้นมา จากนั้นจึงถ่ายทำราวกับว่านักแสดงใช้ชีวิตอยู่ในนั้นจริง ๆ นอกจากนี้ยังจำลองภาพอวกาศด้วยการติดตั้งจอโปรเจคเตอร์แทนที่จะใช้ฉากกรีนสกรีน เพราะเขาต้องการให้นักแสดงมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ภายนอกยานอย่างสมจริง
ภาพ มาร์ชา ไอวินส์ จาก nasa
Interstellar คือหนังเรื่องสุดท้ายในโลกที่ถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX ฟิล์มขนาด 15/70 มม. และเป็นหนังที่มีความยาวที่สุดที่ถ่ายทำด้วยกล้องประเภทนี้
หนังเรื่องนี้มีความยาว 169 นาที และใช้ทุนสร้างทั้งสิ้น 165 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่ามีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 976,000 เหรียญสหรัฐต่อนาที
และต่อจากนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง ใครที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็ผ่านไปได้เลย
การมีส่วนร่วมของ แมตต์ เดมอน (Matt Damon) ถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด ชื่อของเขาไม่ถูกใช้ในการโปรโมท แถมยังไม่ร่วมงานเปิดฉายรอบปฐมทัศน์อีกด้วย
และในเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ สตีเวน สปีลเบิร์ก คูเปอร์จะเดินทางกลับมาบนโลกในอีก 200 ปี หลังจากมนุษย์อพยพออกจากโลก
สำหรับใครที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความเจ๋งของ Interstellar ก็ยังพอมีเวลากันอยู่นะ เพราะหนังดี ๆ แบบนี้น่าจะยืนโรงฉายอีกนานทีเดียว รับรองว่าคุณจะต้องทึ่งกับความตั้งใจกับของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน อย่างแน่นอน
I\'ve explained #Interstellar In One Handy Chart @LyndaObst pic.twitter.com/e87wBscRP5
— Dogan Can Gundogdu (@dcgundogdu) November 10, 2014