ชวนดู 7 ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติจาก 7 ผู้กำกับฝีมือดี

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

          ร่วมย้อนอดีตตามรอยพ่อพร้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กับ 7 ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติจาก 7 ผู้กำกับฝีมือดี

          "ครบปีที่พ่อจากไปแต่ ธ จะสถิตในดวงใจไทยตราบนิจนิรันดร์" คงเป็นประโยคที่สามารถแทนใจเหล่าพสกนิกรชาวไทยได้เป็นอย่างดีหลังจากจูงมือกันผ่านความเศร้าโศกจากการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ปีพุทธศักราช 2559 มาเนิ่นนานกว่าหนึ่งปี ในวันนี้กระปุกดอทคอมขอเชิญชวนชาวไทยมาร่วมกันย้อนวันวาน น้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปกับภาพยนตร์สั้นเฉลิมพระเกียรติทั้ง 7 เรื่อง ประกอบด้วย เหรียญของพ่อ, มูลนิธิราชประชานุเคราะห์, อาม่า, คนล่าเมฆ, แผ่นดินของเรา, จากฟ้าสู่ดิน และเรื่องเดียวกัน ซึ่งในภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็จะนำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงความเป็นมาของโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่พระองค์มีพระราชดำริขึ้นเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
          โดยภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 เรื่องนี้ก็ได้ผู้กำกับชื่อดังมาร่วมถ่ายทอดอาทิ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, ยุทธนา มุกดาสนิท, นนทรีย์ นิมิบุตร, ปรัชญา ปิ่นแก้ว, เหมันต์ เชตมี, พิง ลำพระเพลิง และทีมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน

1. เหรียญของพ่อ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร
 
          เรื่องราวของคนสามคนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการอุทิศตนทำงานช่วยเหลือสังคมและตอบแทนคุณแผ่นดินไทยโดยมีเหรียญตราสัญลักษณ์ "พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9" เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ ครูธานี ข้าราชการครูผู้ได้รับเหรียญพระราชทานเป็นรุ่นแรกจากการที่เขาต้องสูญเสียขาข้างหนึ่งไปเพราะเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมาด้วย สิทธา เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนประจำชายแดนบุตรชายของครูสิทธา และสุดท้าย นุ่น บุตรสาวของสิทธาผู้เลือกเส้นทางชีวิตเป็นแพทย์อาสาในมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

2. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ กำกับโดย เหมันต์ เชตมี

          เรื่องราวของสองสาวอาสาสมัครรุ่นใหญ่แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่วันหนึ่งบุตรชายและบุตรสาวของทั้งสองกลับกลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง หากแต่ทั้งสองต้องปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครของตนกันต่อไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและเสียสละอย่างถึงที่สุด เนื่องจากรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน รัชกาลที่ 9 ที่มีต่อมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ว่า การไปกู้คืนกำลังใจของผู้เสียหายกลับคืน คือที่สำคัญมากกว่าสิ่งของเงินทองใด ๆ

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

3. อาม่า กำกับโดย พิง ลำพระเพิง

          เรื่องราวของครอบครัวเชื้อสายจีนครอบครัวหนึ่งที่ อาม่า หนึ่งในสมาชิกครอบครัวพยายามเรียนรู้และหาความหมายของเพลงสรรเสริฐพระบารมีด้วยความมุมานะจากใจจริง เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเปิดรับหมู่คนทุกเชื้อชาติมาอยู่ใต้ร่มเงาพระบารมีบนผืนแผ่นดินไทย จนทำให้หลาย ๆ คนต้องเกิดคำถามกับตัวเองว่า "คนไทยแท้ ๆ อย่างเรา..รู้ความหมายจริง ๆ ของเพลงสรรเสริญพระบารมีดีแล้วหรือยัง ?"

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

4. คนล่าเมฆ กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว

          เรื่องราวของหน่วยเจ้าหน้าที่แห่งโครงการพระราชดำริฝนหลวงผู้ต้องปฏิบัติภารกิจสร้างฝนเทียมท่ามกลางภัยแล้งอย่างหนักในปี 2542 ด้วยอากาศที่แห้งอย่างสาหัสและท้องฟ้าที่ไร้เมฆใด ๆ ติดต่อกันหลายวันทำให้การปฏิบัติภารกิจนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากจนเจ้าหน้าที่ในหน่วยต่างพากันรู้สึกท้อแท้และหมดกำลังใจ กระทั่งได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์รูปพระมหาชนก สัญลักษณ์แห่งความอดทนและความพยายามมาเป็นทั้งกำลังใจและเครื่องเตือนใจให้พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งใจปฏิบัตรภารกิจอย่างสุดความสามารถอีกครั้ง

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

5. แผ่นดินของเรา กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท

          เรื่องราวของ 5 กลุ่มคนจาก 5 ภูมิภาคที่ถูกถ่ายทอดผ่าน 5 บทเพลงพระราชนิพนธ์ อันได้แก่บทเพลง ใกล้รุ่ง, ลมหนาว, ค่ำแล้ว, สายฝน และ Oh I Say เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราทุกคนไม่ว่าจะเกิดหรือมาจากภูมิภาคไหน ต่างก็ล้วนเป็นพสกนิกรชาวไทยที่อยู่ภายใต้ร่มเงาพระบารมีของพ่อหลวงในรัชกาลที่ 9 เช่นเดียวกันทุกคน

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

6. จากฟ้าสู่ดิน กำกับโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

          เรื่องของครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่งที่ประสบปัญหาอุทกภัยร่วมด้วยภัยจากแมลงอย่างหนักจนทำให้นาข้าวที่ทำอยู่ต้องพังทลายและล้มละลายในที่สุด แม้จะเดินทางเข้าเมืองเพื่อสู้ชีวิตอย่างไม่ย่อถอยแต่กลับพบเจอกับทั้งการกดขี่จากนายจ้างทั้งเหตุการณ์ร้ายซ้ำซ้อน หากสุดท้าย เขาก็สามารถลุกขึ้นมาตั้งหลักได้อีกครั้งด้วยความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

7. เรื่องเดียวกัน กำกับโดย ทีมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน

          เรื่องราวของเด็กชายวัยมัธยมคนหนึ่งที่ใช้การทำการบ้านมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ตนไม่ต้องเดินทางไปร่วมลงนามถวายพระพรกับผู้เป็นพ่อ โดยไม่ได้ตระหนักเลยสักนิดว่าข้าวของเครื่องใช้และอาหารที่ตนบริโภคอยู่ทุกวันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอนนั้น ล้วนมาจากโครงการพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งสิ้น

ย้อนอดีตตามรอยพ่อ

          ทั้งนี้ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติทั้ง 7 เรื่อง จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2553 จากความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคมโดยมีจุดประสงค์ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงงานหนักเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ภาพจาก ช่อง 8

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนดู 7 ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติจาก 7 ผู้กำกับฝีมือดี อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 16:24:23 7,727 อ่าน
TOP