11 Easter Eggs ใน Justice League หลอมรวมจักรวาล DC ให้เป็นหนึ่งเดียว !

Justice League

          เผยจุดหา 11 ไข่อีสเตอร์ใน Justice League ชี้เบาะแสร้อยเรียงวันวานจักรวาล DC ให้กลายเป็นหนึ่งเดียว !

          หลังจาก DC Comics มีความตั้งใจเชื่อมโยงเรื่องราวซูเปอร์ฮีโร่ในโลกการ์ตูนทั้งหมดให้เป็นจักรวาลเดียวจนเกิดการรีบูตเรื่องราวใหม่ออกมาเป็น The New 52 หนังสือการ์ตูนต้นกำเนิดทีมจัสติซ ลีก ก็ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์ Justice League จะมีการแอบซ่อนจุดเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวอื่น ๆ ในจักรวาล DC อยู่เพียบ ! ขนาดไม่นับรวมกับสองฉากท้ายเครดิตที่บอกใบ้ถึงเรื่องราวในอนาคตของจักรวาลขยาย DC แห่งนี้อีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม: เจาะลึกฉากท้ายเครดิต Justice League เปิดคำใบ้สู่จักรวาล DC !) ในวันนี้ กระปุกดอทคอม จึงขอเชิญชวนให้แฟน ๆ ทุกคนย้อนอดีตดื่มด่ำกับวันวานเก่า ๆ ไปกับผลงานภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่หลากหลายยุคสมัยจากค่าย DC ด้วย 11 เบาะแสไข่อีสเตอร์ที่เรารวบรวมข้อมูลมาให้จากเว็บไซต์ Screenrant
          คำเตือน: บทความหลังจากนี้จะเต็มไปด้วยการสปอยล์เนื้อหาในภาพยนตร์ Justice League และเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาล DC เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับชมภาพยนตร์มาแล้วเท่านั้น
 
1. โลโก้แบทแมน ของ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton)

          แฟน ๆ หลายคนอาจลืมเลือนฉากที่ บรูซ เวย์น ขับยานแบทวิง (Batwing) ทะลุฟ้าเมืองก็อตแธม หยุดอยู่ ณ ใจกลางของดวงจันทร์สีนวลดวงโตจนเกิดเป็นสัญลักษณ์โลโก้ค้างคาวแบทแมนกันไปแล้ว Justice League จึงส่ง ไซบอร์ก บินทะยานขึ้นสู่ฟ้าจากกลางเมืองก็อตแธม ทะลุกลุ่มก้อนเมฆไปพบกับดวงจันทร์กลมโตที่คล้ายคลึงกับฉากโลโก้แบทแมนใน Batman (1989) ของผู้กำกับ ทิม เบอร์ตัน ให้แฟน ๆ ได้ทบทวนถึงฉากอันแสนตราตรึงที่ยังคงอยู่ในใจของทุกคนไม่เคยลืม

Justice League
ภาพจาก Screen Rant

2 เพลงประจำตัวฉบับออริจินัลของ แบทแมน และ ซูเปอร์แมน

          แม้จะมีแฟนบางกลุ่มไม่พอใจที่ แดนนี่ เอลฟ์แมน (Danny Elfman) เข้ามารับหน้าที่ดูแลเพลงประกอบใน Justice League แทนที่ ฮานส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) และ Junkie XL เพราะกลัวว่าเพลงประกอบประจำตัวของ แบทแมน และ ซูเปอร์แมน ที่ติดหูกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองจะเปลี่ยนไป แต่ แดนนี่ เอลฟ์แมน ก็ไม่ได้ทำให้แฟน ๆ ผิดหวังแต่อย่างใด เพราะเขาได้แทรกเพลงประจำตัวของซูเปอร์ฮีโร่ทั้งสองเวอร์ชั่นต้นฉบับเข้าไปใน Justice League ด้วย

          โดยทุกคนจะได้ยินเพลงประจำตัวต้นฉบับของ แบทแมน อย่างชัดเจนในฉากที่แบทแมนออกบินไปยังดาดฟ้าของสถานีตำรวจแห่งเมืองก็อตแธม ที่นัดพบของทีมฮีโร่และ จิม กอร์ดอน ในขณะที่เพลงประจำตัวต้นฉบับของซูเปอร์แมนถูกใช้ตั้งแต่ตอนที่ฮีโร่คนเก่งฟื้นคืนชีพเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งที่ แดนนี่ เอลฟ์แมน ตั้งใจจะสื่อว่า เพลงประจำตัวต้นฉบับเองก็ได้หวนคืนสู่จักรวาล DC เช่นเดียวกันกับ ซูเปอร์แมน

Justice League
ภาพจาก Screen Rant
 
3 โลโก้บริษัท Wayne Financial กับ โลโก้ทีม Justice League

          จากฉากการต่อสู้ในเมือง ถ้าสังเกตดี ๆ เราจะเห็นป้ายโลโก้บริษัท Wayne Financial หนึ่งในกิจการภายใต้การดูแลของซูเปอร์ฮีโร่เศรษฐี บรูซ เวย์น ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับโลโก้ของทีม Justice League แล้ว ก็บอกได้คำเดียวว่า ถอดแบบตามกันแบบเป๊ะ ๆ โดยเฉพาะกรอบป้ายที่เป็นรูปทรงห้าเหลี่ยมที่สื่อถึงตัวอักษร J และ L ตัวต่อของ Justice League นั่นเอง

Justice League
ภาพจาก Screen Rant

4 ตึกโรงงานผลิตเคมี ACE Chemicals

          จากฉากที่ เดอะแฟลช ชี้ให้ทุกคนดูสัญญาณค้างคาวแห่งซูเปอร์ฮีโร่แบทแมนบนท้องฟ้า หากสังเกตดี ๆ จะเห็นป้ายไฟนีออนขนาดใหญ่ของคำว่า ACE Chemicals ส่องแสงเด่นชัดอยู่ใจกลางเมืองก็อตแธม ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่แฟน ๆ ของจักรวาล DC เป็นอย่างดีว่า ACE Chemicals คือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมี สถานที่เกิดของ โจ๊กเกอร์ และ ฮาร์ลี่ย์ ควินน์ คู่หูตัวละครวายร้ายผู้โด่งดังจาก Suicide Squad

Justice League
ภาพจาก Screen Rant

5 มาร์ค แมคเคลอร์ (Marc McClure) ผู้บุกเบิกตัวละคร จิมมี่ โอลเซน

          ใครที่เป็นแฟนตัวยงของหนังชุด Superman คงคุ้นเคยและรู้จัก จิมมี่ โอลเซน ช่างภาพคู่หูของ ลูอิส เลน ผู้ชอบแย่งซีนกันเป็นอย่างดี แต่คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าในภาพยนตร์ Justice League มีการปรากฏตัวของ มาร์ค แมคเคลอร์ นักแสดงคนแรกที่ได้รับบท จิมมี่ โอลเซน ในหนังชุด Superman ตั้งแต่ปี 1978 อยู่ด้วย

          โดย มาร์ค แมคแคลอร์ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ แอบกลับมาร่วมแจมใน Justice League ด้วยบทเจ้าหน้าที่ตำรวจในฉากอาละวาดกลางเมืองเมโทรโพลิสของซูเปอร์แมน นับได้ว่าเป็นการหวนคืนสู่จักรวาล DC บ้านเก่าที่เบิกทางให้เขาได้แจ้งเกิดเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างแท้จริง

Justice League
ภาพจาก Screen Rant
                  
6. เสื้อเชิ้ตตารางแดงแถบดำ เสื้อตัวเก่งตัวเดิมของ ซูเปอร์แมน

          นอกเหนือจากชุดรัดรูปสีฟ้าสวมทับด้วยผ้าคลุม กางเกง และรองเท้าบูทสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งที่เราจะได้จดจำในตัว ซูเปอร์แมน ลำดับถัดไปคงจะเป็นเสื้อเชิ้ตตารางแดงแถบสีดำที่เจ้าตัวใส่เมื่อครั้งกลับบ้านเกิดเมืองสมอลวิลล์ เนื่องจากผู้กำกับคนเก่า แซค สไนเดอร์ (Zack Snyder) ตั้งใจจัดให้ คลาร์ก เคนท์ ฉบับ Justice League สวมเชิ้ตแดงแบบเดียวกับที่ คลาร์ก เคนท์ ฉบับ Superman: The Movie (1978) ในฉากกลับบ้านเกิดเมืองสมอลวิลล์แบบเดียวกันเป๊ะ

Justice League
ภาพจาก Screen Rant
        
7. เผยโฉม Hall of Justice ฐานทัพบัญชาการแห่งใหม่

          ในตอนจบของ Justice League เราได้เห็น บรูซ เวย์น เดินเข้าไปยัง คฤหาสน์เวย์น แหล่งพักพิงสุดหรูของเขาที่ถูกทิ้งร้างจนฝุ่นเขรอะผุพังไปใน Batman VS Superman ซึ่งการมาเยือนในครั้งนี้เป็นการกลับมาเพื่อแปลงโฉมให้คฤหาสน์สวยกลายเป็นฐานทัพรวมตัวทีมซูเปอร์ฮีโร่แห่งใหม่อย่างเป็นทางการ โดย บรูซ เวย์น สั่งให้จัดเตรียมโต๊ะกลมขนาดใหญ่พร้อมเก้าอี้อีกหกตัวไว้กลางห้องโถง ซึ่งโต๊ะกลมที่ว่าถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฐานทัพรวมตัวทีมซูเปอร์ฮีโร่จักรวาล DC ใน Super Friend หรือ Justice League ฉบับซีรีส์แอนิเมชั่นเช่นเดียวกัน
 
Justice League
ภาพจาก DC Comics

8. ไซบอร์ก เวอร์ชั่นอัปเกรดใหม่ ไฉไลเป๊ะปังตรงตามฉบับการ์ตูน

          เนื่องจาก Justice League เป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ ไซบอร์ก สมาชิกหุ่นยนต์ที่เป็นทั้งมันสมองและกำลังสำคัญของทีม เราจึงได้เห็นการปูเรื่องราวแนะนำตัวละครตั้งแต่ยังเป็น วิคเตอร์ สโตน คนธรรมดาที่ต่อต้านร่างกายกึ่งมนุษย์และพลังเหนือธรรมชาติของตน ไปจนถึงตอนจบที่พร้อมพัฒนาร่างกายให้เป็นหุ่นยนต์เต็มตัว ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ รูปร่างหน้าตาของ วิคเตอร์ สโตน ที่พัฒนาเป็นหุ่นยนต์ฮีโร่ ไซบอร์ก โดยสมบูรณ์ตอนท้ายเรื่องนั้น ถูกสร้างให้มีลักษณะเหมือนกับตัวละคร ไซบอร์ก ในเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูนแบบเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน

Justice League

Justice League
ภาพจาก DC Comics

9. เสียงร้อง "บูย่าห์ !" (Boo-Yah !) ของ ไซบอร์ก

          ตอนจบของการต่อสู้ในฉากสุดท้ายเราจะได้ยินเสียงของ ไซบอร์ก โห่ร้องฉลองชัยชนะว่า "บูย่าห์ !" ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งใจให้เชื่อมโยงไปถึงซีรีส์แอนิเมชั่น Teen Titans ออกอากาศทางช่อง Cartoon Network ที่ ไซบอร์ก เป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของทีมและ "บูย่าห์" ก็คือคำติดปากของเขาที่แฟน ๆ ต่างก็ต้องเคยได้ยินกันนับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว

Justice League
ภาพจาก DC Comics

10. ท้องฟ้าสีแดงอมส้ม (Red Sky Crossover)

          ทั้งในตัวอย่างและฉากในภาพยนตร์ที่เราได้เห็น แบทแมน, วันเดอร์วูแมน, อควาแมน, เดอะแฟลช และ ไซบอร์ก ยืนเรียงแถวกันในขณะที่ท้องฟ้าทางด้านหลังค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นสีแดงอมส้ม นับเป็นอีกฉากหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวไปสู่ Crisis on Infinite Earth หนังสือการ์ตูนจาก DC เล่มแรกที่เกิดเหตุการณ์ฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดงขึ้น มีความหมายว่า เมื่อใดที่ฟ้ากลายเป็นสีแดง เมื่อนั้นโลกกำลังเผชิญกับมหันตภัยอยู่นั่นเอง

Justice League

Justice League

11. รู้หรือไม่ วันกำหนดฉาย (17 พฤศจิกายน) นั้นมีความหมาย !

          Warner Bros. Picture ตั้งใจกำหนดให้ Justice League เข้าโรงฉายวันที่ 17 พฤศจิกายน 2017 แบบเป๊ะ ๆ เนื่องจากตรงกับวันครบรอบ 25 ปีของหนังสือการ์ตูน The Death of Superman ที่วางขายครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1992 และยังตรงกับวันครบรอบ 16 ปีของซีรีส์ Justice League ฉบับการ์ตูนโทรทัศน์ที่ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2001 อีกด้วย

Justice League

Justice League
ภาพจาก DC Comics

          หวังว่าไข่อีสเตอร์ที่เรารวบรวมมาให้ข้างต้นจะช่วยให้ทุกคนได้รู้เกร็ดข้อมูลใหม่ ๆ ของจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ DC กันไปไม่น้อย และสำหรับใครที่คิดว่าการรอคอย Aquaman ภาพยนตร์เรื่องถัดไปของค่าย DC ที่จ่อคิวเข้าฉายแล้วในวันที่ 21 ธันวาคม 2018 นั้นยาวนานเกินไป การลองหาภาพยนตร์เวอร์ชั่นอื่น ๆ หรือหนังสือการ์ตูนของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่จากค่าย DC Comics มาดูมาอ่านเพื่อหาต้นตอจุดเชื่อมโยงเพิ่มอรรถรสก็เป็นความคิดที่ไม่เลวเหมือนกันนะ ว่าไหม..?

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Justice League Movie, DC Comics

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 Easter Eggs ใน Justice League หลอมรวมจักรวาล DC ให้เป็นหนึ่งเดียว ! อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13:55:51 14,715 อ่าน
TOP
x close