
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Gravity
นับว่าเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุดบนเวทีออสการ์ ในปีนี้เลยก็ว่าได้ สำหรับ Gravity ที่สามารถคว้ามาได้ทั้งหมด 7 สาขา จากการเข้าชิงทั้งหมด 10 สาขา โดยความสำเร็จทางด้านรางวัล ก็สอดคล้องกระแสคำวิจารณ์ที่เป็นไปในทิศทางบวกเรื่อยมา ความน่าสนใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ซ่อนอยู่มากมายในทุกรายละเอียดของเนื้อเรื่อง และในวันนี้ เรามี 10 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ Gravity จากเว็บไซต์ Mental Floss มาฝากกัน ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง


จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ระทึกใจ ใน Gravity เกิดจากการที่รัสเซียทำลาย ดาวเทียมของตนเอง จนทำให้ ดร.ไรอัน สโตน (Dr. Ryan Stone) และ แมท โควอลสกี้ (Matt Kowalski) ต้องลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศ แต่รู้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในปี 2007 เมื่อจีนต้องการทำลายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของตน ส่งผลให้เกิดเศษผงจากการระเบิดลอยเป็นกลุ่มก้อน กระจายไปทั่วเส้นทางโคจรของยานอวกาศด้วยความเร็ว 16,000 ไมล์ต่อชั่วโมง เรื่องราวเหล่านี้ได้กลายแรงบันดาลใจหลักให้กับผู้กำกับของเรื่องอย่าง อัลฟอนโซ่ คัวรอน (Alfonso Cuarón) และลูกชายของเขา ในระหว่างการเขียนบท


สิ่งเดียวที่เป็นของจริงในหนังเรื่องนี้มีแค่หน้าของ แซนดร้า บลูล็อค (Sandra Bullock) และ จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney) เท่านั้น ส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวกาศหรือโลก ต่างใช้เทคนิคด้านคอมพิวเตอร์เข้าช่วยทั้งสิ้น โดยเริ่มแรกผู้กำกับและทีมงานจะสร้างหนังขึ้นมาในรูปแบบแอนิเมชั่นก่อน แล้วค่อยทำงานในส่วนของซาวด์เอฟเฟกต์, เพลง และแสง จากนั้นแอนิเมชั่นทั้งหมดจะถูกแปลงเป็นภาพเสมือนจริงและปรับตำแหน่งสำหรับใส่แสงไฟและตัวนักแสดง ซึ่งผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "เราต้องพิจารณาบทกันอย่างละเอียดแล้วตีความทุกอย่างออกมาเป็นฉาก ๆ และเมื่อเราเริ่มทำงาน ข้อจำกัดใหญ่ที่สุดก็คือการสร้างโปรแกรมขึ้นมา" โดยในขั้นตอนของการสร้างแอนิเมชั่นกินเวลานานถึง 2 ปีครึ่ง ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำกับนักแสดงจริงได้ในภายหลัง



ท่ามกลางเทคโนโลยีทั้งหลายที่ถูกพัฒนาขึ้น หนึ่งในนั้นคือเทคนิคการใช้ลวดสลิงที่คิดค้นขึ้นใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคพิเศษอย่าง นีล คอร์บูลด์ (Neil Corbould) พร้อมด้วยลูกทีมของเขา ที่จะช่วยทำให้นักแสดงเหมือนลอยอยู่ในอวกาศจริง ๆ ซึ่งความพิเศษของสลิงแบบนี้คือ จะสามารถบังคับการเคลื่อนไหวนักแสดงได้ทุกทิศทาง ผ่านการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับที่ใช้ในระบบอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

โดยปกติแล้วในการถ่ายทำฉากที่นักแสดงต้องลอยตัวจะมีการใช้ลวดสลิงแบบเก่า ๆ เข้าช่วย และในหนังเรื่อง Apollo 13 ใช้วิธีการถ่ายทำฉากสภาพไร้แรงโน้มถ่วงโดยการถ่ายทำภายในเครื่องบินที่ดิ่งลงสู่พื้นโลกโดยใช้เวลาเพียง 25 วินาที เพื่อให้เกิดสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงชั่วคราว ซึ่งทีมสร้างของ Gravity ก็ได้พิจารณาทั้งสองตัวเลือกดังกล่าว
โดยแซนดร้า บูลล็อค ผู้ซึ่งตกลงเล่นหนังเรื่องนี้ทั้งที่รู้ว่าอาจมีการถ่ายทำในเครื่องบินจริง ได้เปิดเผยกับสื่อว่า นี่ไม่ใช่งานรูปแบบที่เธออยากจะทำ เนื่องจากเธอกลัวที่จะต้องบินออกไปบนฟ้า แต่ในภายหลังเทคนิคการถ่ายทำได้เปลี่ยนไป เธอจึงรู้สึกแฮปปี้มากขึ้น


นับว่าเป็นโชคดีที่แซนดร้ามีพื้นฐานการเต้นมาก่อน จึงช่วยให้เธอทำงานร่วมกับเทคนิคอันท้าทายของหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอยังต้องฝึกกับคู่เต้นชาวออสเตรเลียเพื่อเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่ช่วงคอลงมา เพราะรูปแบบการเคลื่อนไหวในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง โดยเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "ทุกการเคลื่อนไหวในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ไม่ว่าจะเป็นการผลักหรือการดึง มันแตกต่างกับการเคลื่อนไหวบนพื้นโลกอย่างสิ้นเชิง"

แซนดร้า บูลล็อค กับ ดร.แคดี โคลแมน

โดยเธอได้รับคำแนะนำจาก ดร.แคดี โคลแมน (Dr. Cady Coleman) แห่งสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งแซนดร้ากล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "ฉันสามารถถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เกี่ยวกับสิ่งที่ฉันกำลังจะเรียนรู้ ว่าร่างกายทำงานอย่างไร และควรทำอย่างไรเพื่อปรับตัวเองให้ชินกับการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ที่ไม่สามารถทำได้จริงบนพื้นโลก" เธอกล่าว "ก็แปลกอยู่เหมือนกันที่จะต้องสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหวแบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งผลที่ออกมาคือสิ่งที่ได้จากความบังเอิญแบบไม่ตั้งใจ จนในที่สุดฉันก็ได้เรียนรู้สิ่งที่ฉันต้องการ"


ผู้กำกับต้องการให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมจริงที่สุด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศที่ถูกใช้ในทุกวันนี้ โดยหลังจากที่ร่างบทภาพยนตร์ฉบับแรก เขาเล่าว่าต้องเริ่มปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เพราะสิ่งที่เขาเขียนออกมาเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างยิ่ง โดยขอคำปรึกษาไปแบบนี้ตลอดกระบวนการผลิต ทั้งจากนาซ่าและนักบินอวกาศตัวจริง จากผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในแขนงที่ต่างกันออกไป รวมทั้งจากนักฟิสิกส์ ที่ให้คำอธิบายว่าวัตถุสามารถเคลื่อนที่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ยากพอสมควร เพราะข้อเท็จจริงจากการค้นคว้าช่างต่างกับภาพในจินตนาการโดยสิ้นเชิง


"เราทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า การเคลื่อนไหวของวัตถุต่าง ๆ ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงจะออกมาสมจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้" ผู้กำกับของเรื่องกล่าว "นี่ไม่ใช่หนังสารคดี เราจึงมีอิสระในการสร้างความน่าจะเป็นของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้" โดยผู้ชมจะสังเกตได้จากการที่อวกาศนั้นไม่มีเสียง (แต่ก็ยังมีดนตรีประกอบของหนังคงอยู่) "เสียงเดียวที่คุณจะได้ยินในอวกาศของหนังเรื่องนี้ คือฉากที่ตัวละครกำลังใช้สว่านไฟฟ้า ซึ่งแซนดร้าจะได้ยินเสียงนี้ผ่านการสั่นที่ส่งผ่านโดยแขนของเธอเอง ไม่ใช่จากการส่งผ่านอากาศ เสียงอื่น ๆ ก็จะมีแต่บทสนทนาระหว่างตัวละครเท่านั้น ผมจึงคิดว่าให้หนังเต็มไปด้วยความเงียบจะเป็นการดีที่สุด ส่วนข้อห้ามอีกประการหนึ่งคือเรื่องของไฟ เพราะในอวกาศไม่มีไฟ จริงอยู่ที่มีฉากระเบิดปรากฏในเรื่องแต่มันก็ดับลงในเวลาอันรวดเร็ว" เขากล่าว



นักบินอวกาศที่ได้ชมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยม อย่างเช่นฉากต้นเรื่องที่อยู่บริเวณนอกยาน นักบินอวกาศตัวจริงที่ได้ชมให้ความเห็นว่า "นี่เป็นฉากเกี่ยวกับอวกาศที่สมจริงที่สุดตั้งแต่ผมเคยดู อย่างเช่นตอนที่เชือกลอยอยู่ในอวกาศ มันก็เคลื่อนที่แบบนั้นจริง ๆ หรือแม้กระทั่งตอนที่แซนดร้าเคลื่อนไหวในยานอวกาศ มองดูสิ่งของลอยไปรอยตัวเธอ ทั้งหมดนั่นมันดูจริงเหลือเกิน เหมือนกับที่ผมเคยเจอมาไม่มีผิด บรรยากาศภายในสถานีอวกาศก็เหมือนกับที่ผมจำได้"

ผู้กำกับเจมส์ คาเมรอน และผู้กำกับ อัลฟอนโซ่ คัวรอน

"มันน่าทึ่งซะจนผมชะงักไปเลยล่ะ" เจมส์ คาเมรอน ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ "ผมคิดว่างานถ่ายภาพในอวกาศของหนังเรื่องนี้สุดยอดมาก มันเป็นหนังอวกาศที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมา ซึ่งเป็นอะไรที่ผมอยากจะดูมานานแล้ว"
และถึงแม้ว่า Gravity จะพลาดรางวัลหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ไปอย่างน่าเสียดาย แต่เชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนไปอีกนานแสนนาน