ย้อนตำนาน สันติ-วีณา หนังไทยที่สาบสูญไปนานกว่า 60 ปี เฉิดฉายอีกครั้งในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2016
ท่ามกลางสีสันของเทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปี 2016 ที่มีนักแสดงชาวไทยร่วมเฉิดฉายบนพรมแดง ทราบหรือไม่ว่ามีหนังไทยอยู่ 1 เรื่อง ที่มีโอกาสแจ้งเกิดในเทศกาลปีนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน หนังเรื่องนั้นคือ สันติ-วีณา หนังไทยน้ำดีจาก พ.ศ. 2497 ที่ถูกนำมาบูรณะหลังจากสูญหายไปนานกว่า 60 ปี โดยจะเข้าฉายในสาขา คานส์ คลาสสิก ซึ่งเป็นประเภทของหนังเก่าโดยเฉพาะ
ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่อง สันติ-วีณา การันตีด้วย 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม โดย รัตน์ เปสตันยี และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม โดย อุไร ศิริสมบัติ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ Mitchell BNC จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ในฐานะภาพยนตร์ที่สะท้อนวัฒนธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม ยิ่งไปกว่านั้น สันติ-วีณา ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2497
แต่น่าเสียดายที่ตำนานของ สันติ-วีณา สาบสูญจากวงการหนังไทยไปชั่วขณะ เพราะฟิล์มเนกาทีฟได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งทางเรือไปยังห้องแล็บในประเทศอังกฤษ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557 หนังเรื่องนี้ถูกค้นพบอีกครั้งที่สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (BFI) และมีการค้นพบฟิล์มฉบับสำเนาในหอภาพยนตร์ประเทศจีน รวมถึงสถาบัน Gosfolmofond ในประเทศรัสเซีย ก่อนใช้เวลาบูรณะกว่า 1,700 ชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยี 4K ที่ห้องปฏิบัติการ L’Immagine Ritrovata ประเทศอิตาลี พร้อมเฉิดฉายสู่สายตาชาวโลกในเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2016
สำหรับใครที่อยากติดตามความเคลื่อนไหวของหนังเรื่อง สันติ-วีณา สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ Santi-Vina คาดว่าคอหนังชาวไทยน่าจะได้ชมความงามของ สันติ-วีณา ในเร็ว ๆ นี้
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Santi-Vina, เฟซบุ๊ก Thai Film Archive