x close

7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับหนัง

หนัง

หนัง



7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับหนัง (คมชัดลึก)

โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร
giengi@yahoo.com

          หลังจากโลกเข้าสู่ "ยุคสมัยใหม่" ดูเหมือนหนังกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ต้อง "แบกภาระจนหลังแอ่น" ไหนจะเป็นเครื่องมือหากินอย่างฉาบฉวยของคนทำหนังบางประเทศแบบตีหัวเข้าบ้าน ไหนจะเป็นที่ทางของการโฆษณาสินค้าแอบแฝงแบบมหาศาล ไหนจะเป็นเหมือนผลสอบการเป็นคนดัง ใครสักคน ของคนทำหนัง แล้วหนังยังต้องกลายเป็นกิจกรรมเปิดตัวสินค้า ทำอีเวนท์ และเป็นวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับเจ้าของโปรดักท์ด้วย อย่างไรก็ดี ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ยังมีความชอบธรรมอันควรอยู่ (แม้ว่าบางครั้งไม่เห็นด้วย) มันยังดีกว่าความเข้าใจผิดๆ ที่ยุคสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ ความบันเทิงใหม่ๆ แบบฉาบฉวย พาเข้ามาสู่ชีวิตยุคใหม่

          นี่คือ 7 ข้อที่ชักชวนไถ่ถามถึงความเข้าใจผิดบ้างถูกบ้าง เกี่ยวกับการดูหนังและบริบทรายรอบตัวมัน เห็นด้วยก็ได้ เห็นแย้งก็ไม่เป็นไร เราๆ ท่านๆ เป็นประชาธิปไตยกันอยู่แล้ว

  1. หนังมีหลายตระกูลในเรื่องเดียว

          ถ้าคุณลองพลิกหลังกล่อง DVD หนังดูไม่ว่าเรื่องอะไร มักจะมีการแจกแจงว่า นี่คือหนังสไตล์แอ็คชั่น ดราม่า ทริลเลอร์ ตลก ซึ่งมันไม่มีหรอกครับ หนังที่มีตระกูลหรือแนวทางมากขนาดนั้น เพราะปกติเมื่อมีการทำหนังและผ่านขั้นตอนต่างๆ คนทำเขาคิดมาแล้วว่า อะไรคือแนวทางหลักๆ ของหนัง

          เหมือนพ่อครัวทำอาหาร จะบอกว่าเมนูจานนี้มีรสเปรี้ยวหวานเค็มเผ็ดเท่าๆ กัน มันก็คงไม่ใช่ หนังเรื่องหนึ่งนั้น มันต้องมีตระกูล (genre) ของตัวเองว่าเป็นแนวทางอะไร อาจจะแอ็คชั่น 80% ตลก 20% อันนี้ก็คือแอ็คชั่น ไม่ใช่ว่าทุกแนวทางในเรื่องเดียว

          เหมือนเสื้อผ้าแตกต่างกันก็โวยสไตล์ เหมือนอาหารไม่เหมือนที่รสชาติ เหมือนดนตรีถูกกำหนดด้วยเมโลดี้ หนังก็เป็นเช่นกัน

  2. หนังทำเงินคือหนังดีเสมอ

          ข้อนี้หนักกว่าข้อแรก เพราะบ่อยครั้งมีการเชื่อกันอย่างหนาแน่นว่า หนังที่ทำเงินคือหนังที่ดีแน่ๆ ดีที่สุด ดี 100% ผมขอค้านอย่างนุ่มนวลว่า ไม่ใช่เลยครับ หนังทำเงินก็คือหนังทำเงิน มันอาจทำเงินมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น มาถูกจังหวะ เดาใจคนดูได้แม่น หรือ เป็นหนังตีหัวเข้าบ้าน

          มีหนังมากมายที่ไม่ทำเงินแต่เป็นหนังโคตรดี (departures, atonement, revolutionary road) และมีไม่น้อยเลย ที่แม้ทำเงินก็ไม่มีอะไรต้องจดจำ (drag me to hell, วงษ์คำเหลา ฯลฯ)

          อันนี้ต้องแยกก่อนนะครับว่า
ดีคือดีในความหมายของศิลปะหนัง

  3. ดูหนังจาก DVD

          แม้ผมจะมีเพื่อนหลายคน มีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออยู่ในวงการก็มากมาย และพวกเขาต่างมีทางออกขั้นที่สอง ด้วยการสร้าง โฮม เธียเตอร์ ไว้ที่บ้าน แต่เชื่อไหมครับ พวกเขายังคงไปดูหนังนอกบ้าน ไปดูหนังรอบค่ำ มากกว่าที่จะดูหนังจากแผ่น dvd

          นี่หมายถึงคนที่เลือกดูหนังครั้งแรกด้วยโรงหนัง (ส่วนจะประทับใจซื้อแผ่นมาดูซ้ำ ไม่ว่ากัน) เพราะไม่ว่าอย่างไร หนังคิดมาจากต้นทาง ด้วยการดูในโรง มันต้องดูจอใหญ่ๆ อยู่ในความมืด และมีความสัมพันธ์กับสังคม ด้วยการดูไปพร้อมกับผู้ชม มีเสียง บรรยากาศและแนวทางของการดูหนัง

          ไม่ว่าผู้ผลิต dvd จะคุยโม้ว่าสามารถเพิ่มศักยภาพ สรรพคุณได้แค่ไหน มันไม่สามารถทดแทนหรือชดเชยอันใด ได้กับดูหนังในโรง (ซึ่งเป็นคนละอย่างกับดูหนังกลางแปลง ที่ผมชอบมาก)

  4. ตัวร้ายต้องตายตอนจบ

          ความเชื่อนี้ ก็ไม่จริงอีก ตั้งแต่ยุคก่อนสมัยก่อน สังคมเรามักบอกกันว่า ผู้ร้ายต้องตายตอนจบสิ และพระเอกต้องแต่งงานกับนางเอก แต่พอดูหนังมากๆ โตขึ้นกับชีวิต เราต่างรู้ดีว่า มีบ่อยไป ที่ผู้ร้ายในชีวิตจริงๆ ไม่ได้ถูกจับ พระเอกถูกฆ่าตาย และนางเอกเป็นโสด

          ฝรั่งเขาเชื่อว่า การที่ผู้ร้ายไม่โดนจับ ไม่ตาย ไม่ถูกลงโทษ ก็สามารถ "จรรโลง" ความรู้สึกนึกคิดของคนดูได้ ทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจอะไรขึ้นมาได้ หนังบางเรื่องตัวร้ายหนีลอยนวลไปได้ แต่หนีไปในความมืด ก็มีการตีความว่า ในความมืดนั้น เขาก็คงไม่มีชีวิตที่ดีสักเท่าไหร่ และหนังบางเรื่องแม้ฮีโร่จะตายตอนจบ แต่การตายก็สอนผู้คนว่า เมื่อทำความดีแล้วตาย มันก็เป็นการตายแค่ร่างกายเนื้อหนังมังสา (body) หากแต่รอดพ้นทางจิตวิญญาณหรือ identity

  5. เลือกตอนจบ

          อันนี้อาการหนักแล้ว มั่วแล้ว โธ่... ท่าน ถ้าต้องการให้เลือกว่าจะมีตอนจบอย่างไร มีตอนจบ 3 แบบให้คนดูเลือก อันนี้ผมว่างี่เง่าแล้วล่ะ

  6. ผู้กำกับเป็นคนดี

          มักมีคนพูดว่า คนทำหนังเป็นคนดี หนังก็ต้องเป็นหนังดี แหม อันนี้มันออกแนว เป็นพระก็ต้องทำอาหารอร่อย เป็นหมอ เป็นนายกฯ ก็ต้องถูกไปหมด ก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นคนดีแต่อาจขับรถไม่เก่ง เป็นหมอแต่อาจฟังเพลงไม่เป็น เป็นคนมีเงินแต่อาจไม่รสนิยมก็ได้ เหมือนผมไง ไม่ดีอะไรสักอย่าง (ฮิฮิ)

  7. สมองตื้น

          หนังมันคงง่ายเหลือเกิน ทุกๆ ปีจึงชอบมีคนจากทุกวงการออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ว่าจะทำหนัง อย่างงั้นอย่างงี้ ชาวนา หมอ สถาปนิก พยาบาล ครู ดีไซเนอร์ นักเขียน ตลกจำอวด ผู้นำสังคม ฯลฯ หลายคนในหลายอาชีพ ต่างประกาศตัวว่าอยากทำหนัง

          เข้าใจว่าหนังคงเป็นอะไรที่ทำกันง่ายๆ แต่จะบอกความจริงให้อย่างหนึ่งว่า เคยมีคนคิดแบบนี้เมื่อ 4 - 5 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ ยังผ่อนหนี้ไม่หมด จากการทำหนังเรื่องแรกเรื่องเดียว



  ดูหนัง หนังใหม่ โปรแกรมหนัง หนังตัวอย่าง คลิกเลย


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับหนัง อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2552 เวลา 15:22:17 1,078 อ่าน
TOP