เปิดกรุความหลอนกับตำนานผีไทยที่ถูกเล่าขานกันมาช้านาน ต้นฉบับความสยองของหนังผีไทย มีเรื่องอะไรบ้างไปดูกันเลย
อีกหนึ่งเสน่ห์ของหนังผีไทยคือการนำเอาตำนานความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับผีสางมาสร้าง ซึ่งบางเรื่องอ้างอิงมาจากความเชื่อของคนไทยตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ ผีปอบ, ผีกระสือ หรือเรื่องเล่าที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานอย่าง แม่นาคพระโขนง และวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้รวบรวมตำนานผีชื่อดังยอดนิยมของไทย ที่เป็นแรงบันดาลใจของหนังผีไทยหลาย ๆ เรื่องมาฝากกัน ส่วนเรื่องราวต้นกำเนิดจะน่าสะพรึงขนาดไหน และมีหนังผีไทยเรื่องอะไรที่หยิบไปสร้างบ้าง มาติดตามกันเลย
1. ผีเปรต
เปรต เป็นผีตามความเชื่อไทย มีรูปร่างสูงเท่าต้นตาล ผมยาว คอยาว ผอมโซ ผิวดำ ท้องโต มือเท่าใบตาล แต่มีปากเท่ารูเข็ม และเปรตจะหิวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากกินอะไรไม่ได้ จึงชอบมาขอส่วนบุญในงานบุญต่าง ๆ โบราณมีความเชื่อที่ว่า ถ้าใครทำร้ายและด่าว่าพ่อแม่ ชาติหน้าจะไปเกิดเป็นผีเปรต ซึ่งจากความเชื่อเรื่องนี้เองทำให้มีละครและหนังที่หยิบยกเอาเรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ การกระทำที่ไม่ดีต่อบุพการี หรือโกงแผ่นดิน มาปรุงแต่งเสริมความน่ากลัวดังเช่นละครเรื่อง เปรตวัดสุทัศน์ หรือ เงาบุญ
และในส่วนของหนังก็มีเรื่องราวของ เปรต ร.ศ. 69 (พ.ศ. 2547) บอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ได้เกิดเหตุการณ์น่าสะพรึงกับการปรากฏกายของเปรต ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปทองคำโบราณ แต่ชาวบ้านกลับไม่เชื่อและสาปแช่งให้ตกนรก, 5 แพร่ง ตอน หลาวชะโอน (พ.ศ. 2552) ที่หยิบเอาเรื่องราวเหตุการณ์ในยุคนั้น ที่แก๊งปาหินออกอาละวาดหนัก ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างที่ไม่ควร และยังนำเอาประเพณีชิงเปรต หลาวชะโอน ของชาวใต้เข้ามาบอกเล่าในหนังเรื่องนี้อีกด้วย ปิดท้ายด้วยหนัง อาปัติ (พ.ศ. 2558) หนังผีเรื่องดังที่เกือบไม่ได้ฉายเพราะความเชื่อเรื่องศาสนาที่ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง หนังว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตแบบคึกคะนอง ถูกพ่อแม่บังคับให้บวช เมื่อเข้าไปอยู่ในผ้าเหลืองก็ประพฤติตนไม่เหมาะสม ทั้งแอบคุยโทรศัพท์กับแฟน แอบคบกับสีกา และการเผชิญหน้ากับผีเปรตที่ตามมาขอส่วนบุญ และทวงคืนชีวิตที่ต่างเชื่อมโยงกันอย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งความผิดที่เขากำลังวิ่งหนี ก็เข้ามาตอกย้ำให้เขาต้องชดใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง
2. ผีกระสือ
กระสือ หนึ่งในตำนานผีพื้นบ้านของไทยที่ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน มีความเชื่อกันว่าผีกระสือจะสิงสู่อยู่ในตัวของคนเพศหญิง ซึ่งส่วนมากมักเป็นหญิงชรา โดยมักจะออกหากินในตอนกลางคืนและไปแต่หัวกับไส้ ส่วนร่างกายทิ้งไว้ที่บ้าน เวลาไปไหนจะเห็นเป็นดวงไฟลอยในอากาศ อาหารที่โปรดปรานของผีกระสือนั้น นอกจากของสดของคาวแล้ว ยังชอบกินของโสโครกอีกด้วย
ซึ่งละครที่ทำให้คนรู้จักและจำภาพติดตาคงหนีไม่พ้นฉากถอดหัวของ ยายสาย จากละครเรื่อง กระสือ ช่อง 7 (พ.ศ. 2537) นั่นเอง ซึ่งละครเรื่องนี้มีการรีเมกอีกหลายรอบ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งภาพยนตร์ที่หยิบเอาตำนานของผีกระสือมาสร้างนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น กระสือสาว (พ.ศ. 2516), ตำนานกระสือ (พ.ศ. 2545), กระสือวาเลนไทน์ (พ.ศ. 2549), กระสือมหานคร (2558), กระสือครึ่งคน (พ.ศ. 2559), สาปกระสือ (พ.ศ. 2561), แสงกระสือ (พ.ศ. 2562), กระสือสยาม (พ.ศ. 2562) นั่นเอง ซึ่งหนังเรื่อง แสงกระสือ ได้นำเสนอเรื่องราวของผีกระสือในมุมที่แตกต่าง ใส่ความโรแมนติกในเรื่องรักต่างชาติพันธุ์เข้าไป จนทำให้กลายเป็นความแปลกใหม่และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกระสืออีกด้วย ซึ่งหนังเรื่องนี้นอกจากจะคว้า 6 รางวัลสุพรรณหงส์ ยังได้เป็นตัวแทนของภาพยนตร์ไทยส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 อีกด้วย
3. ผีนางรำ
สำหรับคอหนังสยองขวัญคงคุ้นเคยกันดีกับผีนางรำ ที่มักจะมาพร้อมกับการแต่งกายชุดไทยจัดเต็ม และเสียงดนตรีไทยที่คลอ ๆ ไปกับการปรากฏตัว เพิ่มเลเวลความหลอนให้กับผู้ชมให้หวาดผวากันถ้วนหน้า ยิ่งถ้ามาแบบจัดเต็มชนิดที่ร่ายรำอ่อนช้อยแต่แฝงไปด้วยความสยองนั้น .. ไม่ต้องพูดถึงกันเลย และจากเรื่องราวยอดนิยมนี้เองที่ทำให้ ผีนางรำ เป็นผียอดฮิตที่มักจะปรากฏตัวในหนังผีไทยเสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ (พ.ศ. 2544), อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (พ.ศ. 2545), ผีคนเป็น (พ.ศ. 2549), เปิงมาง กลองผีหนังมนุษย์ (พ.ศ. 2550), หอแต๋วแตก แหกกระเจิง (พ.ศ. 2552) เช่นเดียวกันกับละครสุดฮิตอย่าง นางชฎา (พ.ศ. 2558), พิษสวาท (พ.ศ. 2559) และห้องหุ่น (พ.ศ. 2563) นั่นเอง
4. ผีแม่นาค
จากตำนานที่ถูกเล่าขานมาในหลายยุคหลายสมัย กับเรื่องราวของ นาค หญิงสาวที่ตั้งครรภ์และเสียชีวิตระหว่างคลอดลูก ขณะที่รอ มาก สามี กลับมาจากสงคราม ด้วยความรักและคิดถึง แม่นาคจึงรอคอยการกลับมาของพ่อมากและอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหวาดกลัวของชาวบ้าน โดยที่พ่อมากไม่รู้เลยว่าเมียของตนเองได้ตายไปแล้ว ซึ่งทั้งละครและหนังได้มีการนำเอาเรื่องราวของผีแม่นาคมาสร้างใหม่นับครั้งไม่ถ้วน แต่เวอร์ชั่นที่โด่งดังและเลื่องชื่อเรื่องความน่ากลัวที่สุดคงหนีไม่พ้นเวอร์ชั่นแม่นาคของ ทราย เจริญปุระ ใน นางนาก (2542) นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติม: ย้อนดูตัวแม่ รับบท แม่นาค สวยแบบหลอน ๆ กันทั้งพระนคร) ซึ่งตำนานนี้เชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันมีศาลแม่นาคตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ซอยอ่อนนุช 7 (สุขุมวิท 77) เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
5. ผีตายโหง
ว่ากันว่าผีตายโหง คือ คนที่เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน แบบไม่ธรรมดาตามธรรมชาติ เช่น การตายด้วยอุบัติเหตุ ถูกฆ่าตาย หรือฆ่าตัวตาย เป็นต้น สำหรับการตายทั้งกลมก็ถือว่าเป็นการตายแบบตายโหงเช่นกัน ซึ่งผีตายโหงจะเป็นผีที่ยังยึดติดอยู่กับความรู้สึกสุดท้าย ซึ่งก็คือความหวาดกลัว ความตกใจ ความอาฆาตแค้น ความอาลัยอาวรณ์ ตายทั้งที่ยังทำใจไม่ได้ วิญญาณจึงติดอยู่ในบ่วงแห่งอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่สงบสุข เป็นวิญญาณทรมาน ไม่ยอมรับสภาพปัจจุบันของตัวเอง เลยยังคงเที่ยวปรากฏกายให้คนได้พบได้เห็น ยิ่งถ้าเป็นผีตายโหงที่ตายขณะยังมีความอาฆาตพยาบาทจะมีความดุร้ายเป็นพิเศษ โดยผีตายโหงมักสิงสถิตอยู่กับที่ที่ตัวเองตาย (เช่น ผีเฝ้าถนน ตามโค้งร้อยศพ เป็นต้น) เมื่อมีคนมาตายแทนจึงจะไปผุดไปเกิดได้
ซึ่งในโลกของภาพยนตร์ก็มีหนังผีมากมายที่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ และความน่ากลัวของแต่ละเรื่องบอกได้คำเดียวว่า 10 กะโหลก ไม่ว่าจะเป็น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (พ.ศ. 2547), ผีช่องแอร์ (พ.ศ. 2547), ตายโหง (พ.ศ. 2553), ลัดดาแลนด์ (พ.ศ. 2554), วงจรปิด (พ.ศ. 2555) และตายโหง ตายเฮี้ยน (พ.ศ. 2557)
6. ผีปอบ
ผีปอบ มาจากความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผีที่กินของดิบ ๆ สด ๆ กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม และผีปอบเป็นผีที่ไม่มีตัวตนเหมือนกระสือหรือกองกอย แต่ปอบจะเข้าสิงสู่คนที่เป็นสื่อให้ และจะกินตับไตไส้พุงของผู้อื่นจนกระทั่งตาย บ้างก็มีความเชื่อว่าคนที่กลายเป็นปอบนั้นมักจะเล่นคาถาอาคม หรือคุณไสย พอรักษาคาถาอาคมที่มีอยู่กับตัวไม่ได้ ของนั้นเลยแตก ไม่สามารถบังคับตนเองได้จนกลายเป็นปอบ ปอบไม่มีวันตายจนกว่าจะเจอทายาท
โดยเรื่องราวของผีปอบก็เป็นที่นิยมทั้งในละคร ไม่ว่าจะเป็น ปอบผีฟ้า (พ.ศ. 2540), ปอบอพาร์ตเมนต์ (พ.ศ. 2552), เจ้านาง (พ.ศ. 2558), ปอบผีเจ้า (พ.ศ. 2563) หรือในภาพยนตร์ก็มีการนำเรื่องราวของผีปอบมาสร้างเป็นมหากาพย์เลยทีเดียว ซึ่งเรื่องราวที่คอหนังรุ่นเก่า ๆ อาจจะคุ้นเคยชื่อของ ปอบหยิบ กันเป็นอย่างดี โดยหนังเรื่อง บ้านผีปอบ (พ.ศ. 2532-2544) มีถึง 14 ภาค เลยทีเดียว และยังมี ปอบ หวีด สยอง (พ.ศ. 2544), หลวงพี่กะอีปอบ (พ.ศ. 2563) และล่าสุดกับ ธี่หยด (พ.ศ. 2566) อีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับรายชื่อหนังผีไทยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีสาง แน่นอนว่ารายชื่อผีพื้นบ้านที่เราหยิบยกขึ้นมานั้นเป็นเพียงแค่บางส่วน ยังคงมีผีที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีอีกหลายตน ไม่ว่าจะเป็น นางตะเคียน, นางตานี, ผีพราย, ผีหัวขาด, กุมารทอง และผีคู่บุญของผีกระสืออย่างผีกระหังนั่นเอง ถึงแม้ว่าผีเหล่านี้จะไม่ได้เป็นผีกระแสหลักที่ปรากฏอยู่ในจอภาพยนตร์บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจางหายไปจากหน้าจอ เพราะยังคงได้รับการพูดถึงทั้งจากละครและภาพยนตร์บางเรื่องอยู่นั่นเอง