เจ้านกกระจอก
หนังไทยน่าสน ในงานเทศกาลภาพยนตร์โลก แห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 ( มติชนออนไลน์)
"เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7" จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายน ณ โรงภาพยนตร์พารากอน ซินีเพล็กซ์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยในงานเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าวมีหนังไทยที่น่าสนใจเข้าฉาย ดังต่อไปนี้
เจ้านกกระจอก
"เจ้านกกระจอก"
ผลงานภาพยนตร์ของ "อโนชา สุวิชากรพงศ์" ซึ่งเพิ่งได้เข้าฉายในสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และกำลังจะได้เข้าฉายในสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงต้นปีหน้า
หนังเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้เติบโตมาพร้อมกับความเหินห่างจากพ่อผู้ให้กำเนิด เขาเป็นอัมพาตจากการประสบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยความผิดพลาดของผู้เป็นพ่อ ส่งผลให้เด็กหนุ่มมีความเกลียดชังต่อพ่อของตนเองเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกคู่นี้ถูกสอดแทรกโดยบุรุษพยาบาลที่ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาดูแลเด็กหนุ่ม วันเวลาผันผ่านไปในบ้านโอ่อ่าหลังเก่าซึ่งเก็บบันทึกความทรงจำต่าง ๆ ของครอบครัวไว้มากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มร่างพิการกับบุรุษพยาบาลดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ขณะที่บาดแผลทางร่างกายและจิตใจของเด็กหนุ่มก็ค่อย ๆ ทุเลาลงทีละน้อย
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวต่างชาติแสดงความเห็นว่า "เจ้านกกระจอก" มีแก่นเรื่องว่าด้วยประเด็นชนชั้น, ระบอบปิตาธิปไตย, ภาวะที่ไร้ความเป็นอมตะ, ความคิดเรื่องวิวัฒนาการ, ระบบของจักรวาล และประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งปรากฏตัวผ่านภาพชีวิตอันแลดูสุขสงบของกระฎุมพีไทย
ผมชื่อชาติ
"ผมชื่อชาติ"
ผลงานภาพยนตร์ทดลองของ "ศาสตร์ ตันเจริญ" ที่เล่าเรื่องของชายไทยชื่อ "ชาติ" ผู้หลงทางกลางป่า ขณะที่ "ชาติ" กำลังสูญหายไป ตัวตนของเขากลับค่อย ๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นในความทรงจำของผู้คน ที่ต่างพูดคุยเกี่ยวกับการหายตัวไปของเขา คนเหล่านั้นไม่เคยใส่ใจในการมีอยู่ของ "ชาติ" แต่บัดนี้พวกเขากลับพยายามจะสร้าง "ชาติ" ขึ้นมาจากความทรงจำที่กำลังผุกร่อนและเลือนหายกระจัดกระจายไปในป่าลึก
สีของหัวใจ
"สีของหัวใจ"
ภาพยนตร์ของ "ศุภโมกข์ ศิลารักษ์" ที่พูดถึงชะตากรรมซึ่งตัดผ่านกันของเด็กชายชาวมอญ ผู้ใฝ่ฝันถึงกระเป๋านักเรียนและโอกาสในการได้เข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ไทย, ครูคนอพยพที่ดำเนินชีวิตภายใต้หมวกหลายใบ, หญิงไร้สัญชาติที่ระหกระเหินจากเหนือสู่ใต้เพื่อหาหนทางกลับบ้าน และเด็กสาวชาวเหนือกับนกน้อยของเธอ หนังสร้างจากเรื่องจริงที่เล่าโดยแรงงานอพยพ คนไร้สัญชาติ และชาวบ้านคนเมือง ด้วยฝีมือการสร้างของทีมงานหลากสัญชาติและเชื้อชาติ รวมทั้งกลุ่มแรงงานอพยพชาวมอญในตำบลมหาชัย อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร
I am the Director
"I am the Director"
ผลงานสารคดีของคนทำหนังรุ่นใหม่จากจังหวัดเชียงใหม่ "ณิชภูมิ ชัยอนันต์" ซึ่งทำการสัมภาษณ์คนจำนวน 9 คน โดย 5 คนแรกเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง ขณะที่อีก 4 คน เป็นคนทำหนังสั้นรุ่นหลังที่ใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในอนาคต
จดหมายถึงลุงบุญมี
"จดหมายถึงลุงบุญมี"
หนังสั้นความยาว 18 นาที ซึ่งคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลภาพยนตร์โอเบอร์เฮาเซ่น ประเทศเยอรมนี อันเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิดีโอจัดวางชุด "Primitive" ของ "อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล" ผู้กำกับภาพยนตร์หนึ่งเดียวของไทยที่เคยคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
เสียงเล่าขานถึงลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้ในหมู่บ้านที่อยากลืมอดีตปรากฏขึ้นในหนังท่ามกลางบรรยากาศรัตติกาลที่กำลังโรยตัว ณ บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ซึ่งถ้อยความถึงลุงบุญมีผู้ระลึกชาติได้ถูกขับขานผ่านนิทานปรัมปราจากแดนไกลและบทกวีแห่งพงไพร
โดยหนังสั้นเรื่องนี้จะมีความเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องต่อไปของอภิชาติพงศ์คือ "ลุงบุญมีผู้รำลึกถึงอดีต"
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบกำหนดการฉายของภาพยนตร์และรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ได้ที่ http://www.worldfilmbkk.com/
ดูหนัง หนังใหม่ โปรแกรมหนัง หนังตัวอย่าง คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ