x close

ลุงบุญมีระลึกชาติ ซิวปาล์มทองคำ เมืองคานส์



เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนัง ลุงบุญมีระลึกชาติ


เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนัง ลุงบุญมีระลึกชาติ



เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนัง ลุงบุญมีระลึกชาติ



เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนัง ลุงบุญมีระลึกชาติ



เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนัง ลุงบุญมีระลึกชาติ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบโดย คุณ JJ_Rod จาก pantip.com

          สร้างชื่อให้กับประเทศไทยอีกครั้ง หลัง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์แนวอินดี้ชื่อดัง พาภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) คว้ารางวัล ปาล์ม ดี’ออร์ (Palm d’or) หรือ ปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานจาก เทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 เอาชนะภาพยตร์ที่เป็นตัวเต็งของรางวัลนี้อย่างเรื่อง ออฟ กอดส์ แอนด์ เมน (of gods and men) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส มาครองได้สำเร็จ

          ทั้งนี้ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ขึ้นไปรับรางวัลบนเวที พร้อมกับกล่าวขอบคุณวิญญาณต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เจ้ย อภิชาติพงศ์ เคยคว้ารางวัลจากเวทีนี้มาแล้วกับ รางวัลจูรี่ ไพร์ซ (Jury Prize) จากเรื่อง สัตว์ประหลาด 


          ส่วนภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ นั้น เป็นเรื่องราวเชิงเหนือจริง นั่งสมาธิสะกดจิตและระลึกชาติ โดย ลุงบุญมี ชายซึ่งกำลังจะตายจากโรคร้าย ถูกภรรยาที่ตายไปมาหลอกหลอน รวมถึงลูกชายที่หายสาบสูญไปนานก็กลับมาจากป่าในสภาพที่คล้ายลิง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกชาติได้ ก่อนจะเสียชีวิตลงพร้อม ๆ กับการสนทนาถึงเรื่องราวของชีวิตตนเองที่กินเวลายาวนานหลายร้อยปี
 
          สำหรับ เจ้ย หรือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2513 ณ กรุงเทพมหานคร แต่ไปเติบโตในจังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรของ นายสุวัฒน์ และ นางอรุณ วีระเศรษฐกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และระดับปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

          ทั้งนี้ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวีดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ โดยเขามักทดลองยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็ก ๆ และชอบใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ จนได้รับคำวิจารณ์พร้อมรางวัล 4 รางวัล และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี พ.ศ.2543 


          ต่อมา เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้เปิดบริษัทภาพยนตร์ Kick the Machine โดยผลิตภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประจำปี พ.ศ.2545 ณ ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นปี พ.ศ.2547 ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ได้รับรางวัล Jury Prize โดยเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ก่อนที่ปี พ.ศ.2551 เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล (ส่วนของภาพยนตร์สายหลัก) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2551 และวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2551 เขาก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน หรือเชอวัลลิเยร์ เดส์ อาร์ตส์ เอต์ เดส์ แลตเทรอส์ (Chevallier des Artes et des Lettres) อีกด้วย

 

ลุงบุญมีระลึกชาติ

ลุงบุญมีระลึกชาติ


ลุงบุญมีระลึกชาติ

วันที่เข้าฉาย : 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63)
ความยาว : 114 นาที
กำกับ : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
กำกับภาพ : สยมภู มุกดีพร้อม, ยุคนธร มิ่งมงคล, Charin Pengpanich
อำนวยการสร้าง : ไซมอน ฟิลด์, คีธ กริฟฟิธส์, Charles de Meaux, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
บทภาพยนตร์ : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

เรื่องย่อ ลุงบุญมีระลึกชาติ

          ภาพยนตร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเชิงเหนือจริง นั่งสมาธิสะกดจิต และระลึกชาติ โดยกล่าวถึงลุงบุญมีที่กำลังล้มป่วยด้วยอาการไตวาย บุญมีรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง และเชื่อว่าความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่อาจเกี่ยวกับกรรมที่เขาเคยฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตายไปหลายราย เขาถูกภรรยาที่ตายไปมาหลอกหลอนในสภาพผู้บริบาลรักษา ลูกชายที่หายสาบสูญไปนานก็กลับมาจากป่าในสภาพที่คล้ายลิง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ลุงบุญมีสามารถระลึกชาติได้ และติดตามไปยังสถานที่ที่เกี่ยวของกับอดีตชาติของเขา ก่อนจะเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กับการสนทนาถึงเรื่องราวของชีวิตตนเอง ที่กินเวลานานหลายร้อยปี

งานสร้าง ลุงบุญมีระลึกชาติ

          อภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้จากแหล่งใหญ่สองแหล่ง คือ การเดินทางไปยังตำบลนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม แล้วได้พบกับชาวบ้านที่ผ่านช่วงเวลาที่รัฐบาลทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ. 2508- พ.ศ. 2525 และหนังสือ คนระลึกชาติได้ เขียนโดยพระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น  มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมี ผู้เคยเกิดเป็นนายพราน เป็นเปรต เป็นควายเป็นวัว ก่อนจะมาเกิดเป็นคนในภพชาตินี้ ซึ่งขณะที่เขาได้อ่านหนังสือเรื่องนี้บุญมีได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยหนังสือเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทให้เขาเรื่องเนื้อหาและโครงสร้าง ส่วนเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นเอง โดยเนื้อเรื่องและการออกแบบงานสร้างเขาได้รับแรงบันดาลใจจากรายการโทรทัศน์สมัยก่อนและการ์ตูนไทย ที่มักมีเนื้อเรื่องง่าย ๆ และเต็มไปด้วยองค์ประกอบเรื่องที่เหนือธรรมชาติ

          ทุนสร้างภาพยนตร์มาจากบริษัทของอภิชาติพงศ์ ชื่อ คิกเดอะแมชชีน, บริษัทอิลลูมิเนชันส์ของอังกฤษ, บริษัทแอนนาแซนเดอร์สของฝรั่งเศส, บริษัทแมตช์แฟกทอรีและ Geissendörfer Film- und Fernsehproduktion ของเยอรมนี และบริษัทเอ็ดดีเซตาของสเปน ยังได้รับทุนสนับสนุน 3.5 ล้านบาทจากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย

          ภาพยนตร์ถ่ายทำในระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง กุมภาพันธ์ 2553 ที่มีอุปสรรคเรื่องภูมิอากาศ ทั้งที่กรุงเทพและในภาคอีสานของไทย โดยใช้ฟิล์ม 16 มม. ในการถ่ายเนื่องจากเหตุผลด้านทุนและต้องการให้ดูเหมือนภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนมากกว่า

          ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นส่วนเติมเต็มสุดท้ายของผลงานชุด "Primitive" ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งนอกเหนือจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วยังประกอบด้วยงานศิลปะแบบจัดวาง (Installation Arts) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น มูลนิธิเพื่อศิลปะและการสร้างสรรค์แห่งเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น รวมถึงภาพยนตร์สั้นอีก 2 เรื่อง ได้แก่ "จดหมายถึงลุงบุญมี" และ "ผีนาบัว"



  ดูหนัง หนังใหม่ โปรแกรมหนัง หนังตัวอย่าง คลิกเลย


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลุงบุญมีระลึกชาติ ซิวปาล์มทองคำ เมืองคานส์ อัปเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2559 เวลา 17:09:41 2,694 อ่าน
TOP