x close

หม่อมน้อย ผู้กำกับ จันดารา ปฐมบท ตีแผ่โศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร


จันดารา ปฐมบท


บทสัมภาษณ์ หม่อมน้อย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ จันดารา ปฐมบท-ปัจฉิมบท ตีแผ่โศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร หายนะแห่งกรรมตัณหา สะท้อนใจวิปริตของมนุษย์ (สหมงคลฟิล์ม)

Jandara
ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับ จันดารา ปฐมบท-ปัจฉิมบท


แรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของภาพยนตร์

          เรื่องของจันดารา มันเป็นวรรณกรรมคลาสสิกโดย "คุณประมูล อุณหธูป" ที่ใช้นามปากกาว่า "อุษณา เพลิงธรรม" ซึ่งเรื่องนี้เป็นนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของท่าน คุณประมูลเนี่ยแต่เดิมท่านเป็นนักแปล ท่านแปลวรรณกรรมของฝรั่ง นวนิยายดี ๆ ของฝรั่ง งานเขียนของท่านจะเป็นเรื่องสั้นซะส่วนใหญ่ ที่สำคัญคืองานเขียนของท่านที่โดดเด่นมากคือการใช้ภาษาที่งดงามมาก โดยเฉพาะจันดารา ก็จะเป็นนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของท่าน และก็เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของท่านด้วยซ้ำไป เพราะท่านเขียนแค่เรื่องเดียว จากนั้นก็จะเขียนเป็นเรื่องสั้น

          ทีนี้จันดารา ในแง่ของวรรณกรรมถือว่าเป็นการใช้ภาษาที่งดงามที่สุดและพูดถึงเรื่องการสังวาส การใช้ภาษาที่อีโรติกที่งามมาก ซึ่งคนรุ่นใหม่จะอ่านไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำไป คือสมัยก่อนเนี่ยจะไม่มีนักประพันธ์ที่เขียนเรื่องการสังวาสเลย นวนิยายก็จะเป็นแบบพระเอกนางเอกผู้ร้าย ไม่ก็สี่แผ่นดิน หรือเป็นชั่วฟ้าดินสลายไปเลย เขาก็จะข้ามฉากที่เป็นอีโรติกไป คุณประมูลเป็นคนแรกที่พูดถึงฉากอีโรติก แต่ว่าท่านใช้ภาษาที่สวยงามมากไม่พูดกันอย่างโจ๋งครึ่ม ตรงไปตรงมา ซึ่งท่านเป็นคนแรกในวรรณกรรมไทยที่พูดถึงฉากสังวาสเหล่านี้ แต่นั่นไม่ใช่จุดเด่นจุดเดียวในวรรณกรรมเรื่องนี้ จุดเด่นที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นจุดสำคัญที่โดดเด่นกว่านิยายเรื่องอื่นก็คือ การสร้างตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเอกอย่าง จันดารา ท่านจะใช้จิตวิเคราะห์ของ "ซิกมันด์ ฟรอยด์" บรมครูทางจิตวิทยาของโลกมาสร้างตัวละครในเรื่องนี้ เป็นเรื่องไซโคโลจี้ เป็นเรื่องของจิตวิทยาซึ่งเป็นจุดเด่นที่วรรณกรรมไทยไม่เคยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดที่เรียกว่า "อิดิพุส คอมเพล็กซ์" (OEDIPUS COMPLEX) ปมอิดิพุสของฟรอยด์ที่พูดว่าลูกชายมักจะรักแม่ ลูกสาวมักจะรักพ่อ หรือพ่อมักจะรักลูกสาว แม่มักจะรักลูกชาย เป็นต้น อันนี้เป็นจุดที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งท่านก็พูดว่าจริง ๆ แล้วเนี่ย "เซ็กส์ไดรฟ์" (Sex Drive) แรงขับทางเพศ เนี่ยจะก่อให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์ในทางบวกและทางลบ

Jandara

          ทีนี้ในเรื่องท่านก็แสดงให้เห็นว่าไอ้ทางลบเนี่ยมันคืออะไร ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เราจริง ๆ แล้วจะทำอะไรก็ตามมันมีแรงผลักดันทางเพศหรือผลักดันทางความรักแฝงอยู่ เพียงแต่ว่ามันจะออกมาในแง่บวกหรือแง่ลบมันก็เท่านั้นเอง เช่น ง่าย ๆ พ่อแต่งงานกับแม่ รักแม่มาก รักเมียมาก ก็อยากจะทำทุกอย่างเพื่อให้เมียมีความสุข เมื่อมีลูกก็ต้องทำมาหากิน อยากให้ลูกเมียมีความสุข นี่ก็เป็นแรงผลักดัน ที่พูดไปมันก็เป็นแรงผลักดันทางเพศเหมือนกัน หรือผู้ชายคนหนึ่งรักผู้หญิงคนหนึ่งมาก ๆ แต่จน ก็อยากจะทำทุกอย่างให้ตัวเองรวยขึ้นมา เพื่อจะได้เอาผู้หญิงคนนั้นมาเป็นเจ้าของ เป็นต้น อันนี้ยกตัวอย่างเป็นแรงผลักดันในด้านดี

          ในด้านลบก็มี เช่น ถ้ารักผู้หญิงคนนี้แล้วไม่ได้ก็เกิดการฆ่า หรือเวลาที่เรารักครอบครัว รักเมียรักลูก แต่เราจนหรืออาจจะไม่จนหรืออยากให้ลูกเมียสบาย ก็อาจจะมีการโกงกินเกิดขึ้น การโกงก็มีหลายระดับ โกงระดับง่าย ๆ โกงระดับพื้นฐาน และมันก็ไปโกงระดับประเทศมันก็เป็นเช่นนั้น ที่เกิดจากความรักในลูกเมีย รักในวงศ์ตระกูล รักในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันมาจากเซ็กส์ไดรฟ์นี่เอง

          วรรณกรรมเรื่องนี้พูดแบบนี้ แล้วก็แสดงให้เห็นว่าเซ็กส์ไดรฟ์ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมมนุษย์ในทางลบคืออะไร เพราะฉะนั้นตัวละครของจันดาราพูดได้ว่ามันเป็นโศกนาฏกรรม เป็นการสอนคนดูให้เห็นว่า อย่าประพฤติอย่างจันดาราเลย มันไม่มีประโยชน์อะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนี้ไม่ได้พูดเรื่องเซ็กส์อย่างเดียว จริง ๆ อันที่แฝงอยู่ในแรงผลักดันเนี่ย ผลของการที่มันออกมาจากเซ็กส์ไดรฟ์ ออกมาเป็นความต้องการอำนาจ ความต้องการรวย ความต้องการวัตถุ เป็นเรื่องของอำนาจและการเมือง การเมืองในที่นี้คือการเมืองในบ้าน ในครอบครัว ต้องการอำนาจในครอบครัว เดี๋ยวนี้ในครอบครัวที่รวย เช่น ครอบครัวพิจิตรวานิชในเรื่องนี้ร่ำรวยมหาศาลมาก แล้วคุณหลวงก็เข้าไปเป็นเขยเพื่อต้องการอำนาจ ก็เลยใช้เรื่องเซ็กส์นี้เป็นการได้มาซึ่งอำนาจ ซึ่งในสังคมยุคเมื่อ 90-100 ปีก่อนเป็นเช่นนี้ จะเห็นได้ชัดว่าผู้รากมากดี คนร่ำรวย เจ้าขุนมูลนายจะมีเมียเยอะมีลูกเยอะ นั่นแสดงให้เห็นถึงอำนาจ คือการมีอำนาจ การมีเกียรติ คนรวยจะเป็นเช่นนั้นเพราะเป็นลักษณะของสังคมไทย ส่วนผู้หญิงในเรื่องนี้ก็ใช้เซ็กส์เป็นการต่อรองอำนาจเช่นกัน เช่น ตัวละครที่ต้องการจะทะเยอทะยาน ตัวละครที่อยากอัพตัวเองจากคนใช้มาเป็นเมียท่านเจ้าขุนมูลนายก็ใช้เรื่องเพศนี้เป็นเครื่องต่อรอง อย่างน้าวาดที่ต้องการจะปกป้องชีวิตของจัน ก็ต้องเอาตัวเข้าแลกเพื่อไม่ให้คุณหลวงทำร้ายจัน เป็นต้น

จันดารา

          เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดไปในแง่การเลือกเรื่องนี้มาทำเนี่ย เพราะมันเกิดมุมมองใหม่เกิดขึ้น ไม่ได้มองเป็นหนังอีโรติก แต่เป็นหนังอัตชีวิตประวัติของจันดาราซะด้วยซ้ำไป ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่จันดาราเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 (ปี 2458) จนถึงปัจจุบัน ดำเนินเรื่องถึง 4 รัชกาล คือจะเป็นมหากาพย์เลยทีเดียว มันเป็นการเล่าชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนใกล้จะตายแล้วว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง โดยมีประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นแบ็คกราวด์ การเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศมันมีอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีการเปรียบเทียบกันระหว่างการเมืองระดับประเทศกับการเมืองในบ้าน แล้วก็การใช้เรื่องเพศในจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน ตัวละครสำคัญใช้เรื่องเพศเพื่อเป็นการต่อรองทางการเมือง การได้มาซึ่งอำนาจ ตัวละครบางตัวมองเรื่องเพศเป็นกีฬาเป็นเรื่องสนุกเอ็นจอย ตัวละครบางตัวอย่างจันดารามองเรื่องเพศเป็นการแก้แค้น ตัวละครบางตัวใช้เรื่องเพศแสดงออกถึงความรัก เพราะฉะนั้น มันพูดถึงเรื่องเพศในมุมมองต่าง ๆ กัน ฉากอีโรติกในเรื่องนี้มันมีหลากหลายความหมายและมีมากกว่าเวอร์ชั่นเดิมที่พูดถึงเรื่องเพศโดยตรงด้วยซ้ำไป และที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นมันพูดถึงเรื่อง "กรรม" ใครทำอะไรประพฤติอย่างไรก็จะได้ผลกรรมอย่างนั้นซึ่งเป็นแก่นแท้ของบทประพันธ์นี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีวรรณกรรมเรื่องไหนที่สะท้อนภาพชีวิตแม้กระทั่งสังคมปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ใกล้เคียงเท่าเรื่องนี้

เนื้อหาสะท้อนสังคมในปัจจุบัน

          แม้เรื่องดำเนินมาเกือบร้อยปี แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ จริง ๆ แล้วก็ตัวคุณประมูลเองเนี่ยท่านก็พยายามสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์จริง ๆ สะท้อนให้เห็นหายนะของตัวละครที่เต็มไปด้วยความแค้น ซึ่งเราเห็นว่ามนุษย์เวลามีความแค้นเกิดขึ้นเนี่ย พฤติกรรมของมนุษย์จะทำลายล้างอะไรก็ได้ไม่ว่าจะมนุษย์ยุคใดก็ตาม เมื่อโดนหักหลังก็เกิดความแค้นและสามารถทำลายได้หมดไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัวหรือระดับประเทศก็ตาม เราต้องการแสดงให้เห็นว่า ความแค้นมันไม่ได้ช่วยอะไรคุณเลย มันกลับทำให้เกิดความหายนะแก่คนรอบข้างและตัวเอง คือสังคมเปลี่ยนไปทันสมัยขึ้นมากมาย แต่มนุษย์ก็ยังมีกิเลสอยู่ ที่เรียกว่าความแค้นและการอยากแก้แค้น

          และพื้นฐานของความแค้น การแก้แค้นมันคืออะไร มันคือการยึดตัวตนนั่นเอง การรักศักดิ์ศรีของตัวเองและวงศ์ตระกูลตัวเองนั่นเอง เป็นการยึดมั่นถือมั่นที่เอาเข้าจริงโดยแท้ตอนจบเนี่ยก็นำไปสู่ความไร้สาระ ทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ แค้นไปก็เท่านั้น เป็นมนุษย์ประเดี๋ยวก็ตาย มันพูดถึงมนุษย์จริง ๆ พูดถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สังสารวัฏของมนุษย์และสัจธรรมจริง ๆ ในชีวิตมนุษย์ ซึ่งตัวผู้ประพันธ์ต้องการที่สะท้อนตรงนี้ซ่อนไว้ในนวนิยายเชิงกามศาสตร์ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ภายใต้นั้นเต็มไปด้วยการเมือง เต็มไปด้วยชีวิตมนุษย์ เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ ซึ่งงดงามมากสำหรับนิยายที่ท่านเขียน อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นอิมเพรสชั่นนิสม์ การใช้ภาษาที่สวยมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงออกมาสวยงามมาก ๆ เต็มไปด้วยศิลปะ โดยเฉพาะในฉากอีโรติกทั้งหมด มันต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์อีโรติก แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์อัตชีวประวิติของตัวละครที่ชื่อว่าจัน ดารา ยาวตั้งแต่เขาเกิดจนกระทั่งจบที่แสดงให้เห็นว่าจันดาราเนี่ยพบกับชะตาชีวิตอย่างไรบ้าง ในแต่ละสถานการณ์เนี่ยเขาโดนหล่อหลอมยังไงตั้งแต่เขาเกิดมาจนกระทั่งอายุเก้าสิบ

Jandara

          อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประพันธ์ได้นำเสนอออกมาสวยงามมาก จริง ๆ แล้วตั้งแต่เด็ก มนุษย์เราเกิดมาสะอาดหมด เพียงแต่การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่ปรุงแต่งในจิตเด็กเป็นไปในทางบวกหรือลบ ซึ่งจริง ๆ ก็คือพ่อแม่นี้เองเป็นคนที่เลี้ยง ในหนังพูดถึงตรงนี้ โชคร้ายที่ตัวละครอย่างจัน ดาราหรือคุณแก้ว ล้วนไปเห็นตัวอย่างไม่ดีจากคุณหลวงที่เป็นพ่อตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา มันก็เลยทำให้เกิดการจดจำแล้วก็กำหนดพฤติกรรมที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นผลร้ายต่อเขาเมื่อเขาโต ไม่ว่าเรื่องกามารมณ์หรือการใช้อารมณ์ทะเลาะเบาะแว้งกันในบ้านอะไรทำนองนั้น ตบตีกันในบ้าน แสวงหาอำนาจกันในบ้าน เด็กจะจำและเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เปรียบเทียบได้กับเด็กอยู่บ้านแล้วพ่อแม่อาจจะดี แต่ตัวอย่างไม่ดีอาจเกิดจากในโทรทัศน์ ความรุนแรงของละคร ภาพยนตร์ หรืออินเทอร์เน็ตที่มีผลต่อเด็ก แต่บังเอิญในเรื่องนี้มันยังไม่มีสื่อต่าง ๆ มันก็เห็นผ่านของจริงที่เด็กมองเห็น มันเป็นสิ่งที่เราเลือกทำภาพยนตร์เรื่องนี้

          เราเห็นคุณค่าของวรรณกรรมเรื่องนี้สมควรนำมาทำเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็จริง ๆ แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มันก็มีหลากหลายอารมณ์มาก จริง ๆ แล้วตัวคุณประมูลเองก็มีอารมณ์ขันเสียดสีอยู่ในนั้น เราก็นำเอาอารมณ์ขันเหล่านั้นออกมา มีความน่ารัก ความเสียดสี  มันมีความตลกด้วย แล้วมันมีอารมณ์ลึกลับ มีการค้นหา เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเรื่องนี้ทำตามบทประพันธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ก็คงไม่ใช่ เพราะเราดัดแปลงมาเพื่อให้เป็นภาพยนตร์ที่มีหลากรส มันดูง่ายขึ้น แล้วก็ไม่เครียด ไม่ซีเรียสนักหนา มันมีอารมณ์ขันแฝงอยู่ในนั้นด้วยมากมาย มันก็เหมือนมาดูประวัติชีวิตคนในอดีต ซึ่งมีสีสันหลากหลายมาก มันไม่ใช่เรื่องกามารมณ์ มันมีเรื่องการเมือง ความรักระหว่างหนุ่มสาวอย่างบริสุทธิ์ก็มีและไม่บริสุทธิ์ก็มี อย่างในฉากรักต่าง ๆ ก็มีการเปรียบเทียบกัน ความรักในแบบต่าง ๆ เป็นยังไง หรือว่าอีโรติกในแบบต่าง ๆ เป็นยังไง มันมีตื่นเต้น มีบู๊ด้วย มีตลกด้วย มันมีแทบทุกรสเลย

          ถ้าจะพูดไป เราตั้งใจจะทำเรื่องนี้ให้เหมือนกับภาพเขียนฝาผนังในวัด ในยุคที่ยังไม่มีสื่อที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน ภาพเขียนฝาผนังในวัดเนี่ยก็เปรียบเสมือนภาพยนตร์นะ คนไปวัดก็จะไปดูวิถีชีวิตจริง ๆ แล้วฉากอีโรติกอีกมากมายบนฝาผนังในวัดมีไว้เพื่อให้คนดูแล้วรู้ว่านี่คือชีวิต แล้วก็รู้จักปลง แล้วก็อยู่ในความงาม เพราะฉะนั้นภาพที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ก็จะเหมือนภาพเขียนบนฝาผนังในวัดสมัยโบราณ ซึ่งมีถึงพริกถึงขิงมาก หลายเพศหลายพันธุ์มากนะในภาพเขียนฝาผนัง พูดถึงประวัติก็มี สะท้อนชีวิตชาวบ้านธรรมดาก็มี หรือเรื่องอีโรติกนี่ชัดเจนมาก มีทั้งเพศเดียวกันก็มี ต่างเพศก็มี กับสัตว์ก็มี ซึ่งถ้าเราลองศึกษาดู เราก็จะรู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นภาพยนตร์ แต่ว่าออกมาในความงามที่อยู่ในวัด สังเกตได้ง่าย ๆ ว่านางฟ้าของเราเนี่ยจะเปลือยอกนู้ดทั้งนั้นเลยใช่ไหมล่ะ จุดประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงออกมาเป็นเช่นนั้นเหมือนกับดูภาพเขียนฝาผนังบนวัด ซึ่งสะท้อนธรรมะของเราหมายถึงธรรมชาติของมนุษย์ ให้ดูแล้วรู้จักปลงว่านี่แหละคือธรรมชาติของมนุษย์ ให้ดูแล้วกลับไปรู้จักปรับปรุงตัวเอง จริง ๆ แล้วตัวละครหลาย ๆ ตัวเนี่ย มันก็มีอยู่ในตัวเราทุกคนเนี่ยแหละ จะมีข้อบกพร่องในตัวมนุษย์ทุก ๆ คนในทุกยุคทุกสมัยเหมือนกัน ดูแล้วก็รู้จักชำระล้าง แล้วดูว่าตัวละครตัวไหนเหมือนตัวเองเหมือนเราบ้างแล้วก็ปรับปรุงชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ให้รู้จุดประสงค์ในการเลือกวรรณกรรมเรื่องนี้มาทำเป็นภาพยนตร์

นำเสนอเป็นสี่ยุคสี่สมัย

          มันเป็นการเพิ่มแน่ ๆ เพราะว่ามันเป็นบทดัดแปลงจริง ๆ คือว่า "ครูประมูล อุณหธูป" เขียนเรื่องนี้เป็นแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็เหมือนเราอ่านอันนี้อีกครั้งเราประทับใจอย่างไร มันก็ออกมาเป็นภาษาภาพยนตร์ที่ต่างกัน ยังไงก็มีการปรึกษากับคุณศิเรมอร ลูกสาวผู้ประพันธ์แล้วว่าจะมีการดัดแปลงแบบนี้ มุมมองใหม่เกิดขึ้นแต่เราก็ยังรักษาแก่นแท้ความตั้งใจเดิมของวรรณกรรมเอาไว้ แล้วก็สร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาด้วย จริง ๆ มันก็คือการเพิ่มสีสัน เพราะความสมบูรณ์มากที่สุดของศิลปะการประพันธ์ก็แบบหนึ่ง ศิลปะภาพยนตร์ก็อีกแบบหนึ่ง การอ่านกับการดูไม่เหมือนกัน แต่เพราะจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ได้ทำลายบทประพันธ์เลย ก็ทำจากพื้นฐานบทประพันธ์อันนั้นแหละ แต่ทำให้มีสีสันสำหรับคนไทย เรื่องนี้ตั้งใจทำให้คนไทยดูนะไม่ใช่คิดจะทำให้ฝรั่งดู เพราะว่าเราเป็นคนไทย เราไม่ได้จะไปประกวดเมืองนอกเมืองนาอะไร


ขั้นตอนเขียนบทใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหน

          เวลาเขียนบทไม่นาน แต่เวลาคิดนาน คิดเป็นปี ก็คงเหมือนกับหนังทุกเรื่องที่เราคิดมานานแล้ว มันต้องคิดหลายปี เพราะจริง ๆ แล้ว พอถึงเวลาเขียนไม่นานเลย แต่เวลาคิดนานคิดเป็นปี เพราะว่าอ่านหลายครั้งหลายหนมาก เด็กรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ยาก มันเป็นเพราะการใช้ภาษาที่โบราณมากกว่าสิ่งใด ๆ บนโลกนี้ และก็เป็นภาษาที่เปรียบเปรยมาก แต่ก็แปลกที่ยิ่งอ่านยิ่งได้อะไรใหม่ ๆ ในเนื้อหาที่ท่านผู้ประพันธ์ได้ซ่อนเอาไว้ในนั้น คือถ้ามองแต่เปลือก ๆ มันก็คือนิยายประโลมโลก พูดถึงกามารมณ์ในแง่เปลือก ๆ มันก็สนุกโลดโผนโจนทะยานมาก มีฉากลึกลับมากมายก่ายกอง ถ้ามองลึกไปกว่านั้นเนี่ยจะเจอสิ่งดี ๆ ในนั้นคือ เจอธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจอะไรมากขึ้น ถ้าอ่านหนแรกมันจะได้แต่ผิว ๆ มันก็เป็นเรื่องกามารมณ์ จริง ๆ วรรณกรรมดี ๆ ต้องอ่านหลายครั้ง อ่านแล้วจะได้อะไรใหม่เสมอ อะไรดี ๆ เหมือนหนังดี ๆ ก็ดูได้หลายครั้ง ด้วยความอัจริยะของท่านผู้ประพันธ์ที่เปิดช่องให้เราได้ตีความได้มาก ที่ไม่ได้ให้เล่าคิดตามท่านอย่างเดียว แต่เปิดช่องให้เราคิดเองด้วย ดังนั้นในแง่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ก็จะทำได้ง่ายขึ้น เราก็เอาแก่นหรือสาระของเรื่องมาขยายความดัดแปลงให้เหมาะสมในทางภาพยนตร์ เพราะศิลปะภาพยนตร์กับวรรณกรรมมันก็คนละแบบกัน ซึ่งท่านจะใช้ภาษาที่ไพเราะมาก และเป็นภาษาโบราณด้วย เป็นพรรณนาโวหารที่มีความงามอยู่ในนั้น เราก็เอาความงามทางภาษามาแปลงเป็นความงามของภาพแทน

          และในแง่ความเด่นที่สุดอีกจุดหนึ่งของท่านก็คือ การที่ใช้หลักจิตวิทยาของซิกมันด์ ฟรอยด์ มาสร้างตัวละครให้มีชีวิตเหมือนคนจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปมออดิปุสคอมเพล็กซ์อย่างที่บอกไป เป็นปมที่ท่านเอามาสร้างเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจได้อย่างสมจริงในเรื่องหรือพล็อตที่คนไทยจะสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ  มีการหักมุม มีการแย่งชิงอำนาจกัน แย่งทรัพย์สินมรดกกัน คล้าย ๆ ละครโทรทัศน์เลยนะ นี่คือความโดดเด่นของเรื่องจันดารา ที่นอกเหนือไปจากฉากอีโรติกที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อยุคสมัย 2507 ที่ยังไม่เคยมีใครเขียนเรื่องทำนองนี้ ก็เลยเป็นที่ฮือฮากันมากในเชิงวรรณกรรมสังวาส พูดเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือเป็นเรื่องโป๊ แล้วเราก็จะตื่นเต้นกับบทอัศจรรย์บทสังวาสเกิดขึ้นมากมาย แต่ว่าความเป็นอัจริยะของท่านเนี่ย ได้ซ่อนปรัชญาทางพุทธเอาไว้ แล้วก็ตีแผ่จิตมนุษย์ออกมาในงานวรรณกรรมของท่าน ซึ่งเราว่ายุคสมัยนี้ใกล้เคียงในเรื่องทีเดียวนะ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ เราว่าในยุคสมัยนี้แหละที่น่าจะได้ชมภาพสะท้อนของเราเองในเรื่องนี้ ของตัวเราเอง ของสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่

การคัดเลือกนักแสดงและบทบาทแต่ละคาแรคเตอร์

          ในแง่ของการเลือกตัวละครก็ต้องเลือกอย่างเหมาะสมจริง ๆ เท่านั้นนะ เราเลือกนานจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครที่เดินเรื่องตลอดก็คือตัว จัน ดารา ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องชีวิตของเขาเองทั้งหมด โดยในภาพยนตร์ครั้งนี้มีการดัดแปลงให้จันดารามีชีวิตยาวขึ้นกว่าในบทประพันธ์ โดยในวรรณกรรมจะเล่าเรื่องถึงอายุ 40 แต่ในหนังเราจะเล่าไปถึงอายุ 80-90 คือจะเล่าตั้งแต่จันดาราเกิดขึ้นบนโลกนี้จนอายุถึง 90 ปี เรื่องก็จะดำเนินผ่านเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตของเขา ซึ่งก็คล้าย ๆ กับอัตชีวประวัติ ถึงเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นมหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรม

จันดารา 2

         ตัวจันดาราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปิน มีความเป็นศิลปินสูงมาก เป็นคนอ่อนไหวมาก เป็นคนที่สามารถจดจำรายละเอียดของตัวเองและคนอื่นได้เป็นอย่างดี เรื่องส่วนใหญ่จะดำเนินตอนที่เขาอายุ 17 จนถึงเกือบอายุ 40 เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเลือกคนที่มีหน้าตากลาง ๆ ที่สามารถเล่นเป็นคนอายุ 17 จนถึง 30-40 ได้ การเลือกนักแสดงมันก็ต้องน่าเชื่อ แก่ไปก็เล่นเป็นเด็กไม่ได้ เด็กไปก็เล่นแก่ไม่ได้ ตัว "มาริโอ้" ด้วยวัยเขาจริง ๆ เนี่ย ก็จะกลาง ๆ ที่สุด และด้วยฝีมือทางการแสดงของเขาหลังจากที่ร่วมงานกันมาในอุโมงค์ผาเมืองเนี่ย เราก็ได้เห็นศักยภาพทางการแสดงและคิดว่ามาริโอ้จะสวมบทบาทเป็นจันดาร ได้อย่างลึกซึ้ง ตอนออดิชั่นให้มาริโอ้แต่งเป็นอะไรเขาก็จะมีเสน่ห์เป็นคนนั้นซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของนักแสดงมาก ๆ เขาก็คงจะเหมาะที่สุดแล้ว คราวนี้เรามองจันดาราเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ และข้อสำคัญก็คือ สภาพแวดล้อมรอบข้างนี่แหละที่ทำให้ความบริสุทธิ์ของเขาต้องเปลี่ยนไปกลายเป็นดาร์กขึ้น หม่นขึ้น ๆ จนกลายเป็นดำสนิท ด้วยสภาพจิตใจและหน้าตาของเขาก็ทำให้สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีทีเดียว

จันดารา

          ส่วนตัวละคร "เคน กระทิงทอง" ซึ่งสร้างขึ้นมาให้ละเอียดขึ้นจากหนังสือเนี่ย เป็นตัวละครที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับจัน ถ้าจันเป็นสีดำเคนก็เป็นสีขาว ถ้าเคนเป็นสีขาวจันก็เป็นสีดำ เป็นบุคลิกตรงข้ามกันมาก เคน กระทิงทอง จะเป็นคนที่แมน ๆ แข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นคนที่ไม่คิดอะไรมากทั้งสิ้น เอ็นจอยกับชีวิตในทุกวินาทีที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ เป็นคนมองโลกในแง่ความเป็นจริง การที่เลือก "นิว ชัยพล" เพราะเขามีลักษณะภายนอกที่เหมือน เคน กระทิงทอง มาก ด้วยรูปร่างหน้าตาและความแข็งแกร่งที่ดูเป็นนักสู้ เป็นนักเลงนิด ๆ และมีความทะเล้นอยู่ในตัว ในแง่แอคติ้งเนี่ย นิวเรียนกับเรามาตั้งสี่ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเขาสามารถทำความเข้าใจตัวละครได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือนิวกับโอ้เขาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาเล่นด้วยกันเขาจะมีเคมีที่เข้ากันได้ดีมาก มันไม่ใช่แค่เพื่อนอย่างเดียวนะ มันเป็นทั้งนายกับบ่าว มีความซื่อสัตย์ ความไว้ใจซึ่งกันและกัน คู่นี้พอเล่นด้วยกันแล้วดูน่าเชื่อเป็นอย่างยิ่ง

          ทั้งคู่เป็นลูกศิษย์เรา เรารู้ว่าจะใช้งานเขาได้ยังไง ก็เริ่มซ้อมมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ทั้งคู่จะมาซ้อมมาเข้าคลาสด้วยเพื่อให้เข้าถึงตัวละครซึ่งเป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งก็เลือกไม่ผิดทั้งคู่ และเขาก็มีเคมีที่เขารู้จักกันตั้งแต่เด็กมันเลยทำให้เขาสามารถเป็นตัวเดินเรื่องสองตัวที่ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์จนกระทั่งจบ ตัวละครตัวอื่นก็เลือกจากเหมาะสมแท้ ๆ ซึ่งก็ยากที่เราจะปฏิเสธบทอีโรติกหรือบทล่อแหลม มันปฏิเสธไม่ได้ที่จะมี เราต้องเลือกคนที่เข้าใจศิลปะของการแสดงจริง ๆ ที่จะรู้ว่ามันจำเป็นต้องเปลือยด้วยมีเหตุและผล ไม่ใช่ว่าจงใจจะเปลือย ต้องเลือกคนที่มีสามารถและเหมาะสมด้วย เข้าใจศิลปะของการแสดงด้วย ซึ่งนักแสดงทุกคนก็เข้าใจและเต็มที่กับการแสดงเรื่องนี้กันทุกคน

          บท "คุณหลวงวิสนันท์เดชา" เป็นบทที่เหมือนกระจกส่องสะท้อนกับจันดารา ที่ทำให้แม่ต้องตายหลังจากคลอดเขา ก็เลยก่อเกิดความเคียดแค้นที่มาใส่กับตัวเด็ก โดยที่จริง ๆ แล้ว มันมีเหตุผลที่เป็นปริศนาซ่อนอยู่ เป็นบทที่เล่นค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นบทนี้ต้องใช้คนที่มีฝีมือมาก สำหรับผมคิดว่า "เจี๊ยบ ศักราช" เนี่ย มีบุคลิกภายนอกมีความเป็นผู้ชายไทยเหมือนที่ "ตั๊ก บงกช" มีความเป็นผู้หญิงไทย และประกอบฝีมือการแสดงที่เล่นได้แนบเนียนและลึกซึ้งเหมือนตัวละคร ก็เลยคิดว่าศักราชจะสวมบทบาทนี้ได้ดี ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดีมาก ๆ  เลยทีเดียว

Jandara

          "ตั๊ก บงกช" ก็เลือกจากลักษณะภายนอกเหมือนกัน คือตัว "น้าวาด" เนี่ย สวยแบบนางในวรรณคดี เป็นหญิงไทยโบราณและมีความเป็นแม่สูงด้วยลักษณะภายนอก มีหน้าอกที่ใหญ่ มีไหล่ที่ใหญ่ แล้วมีความอบอุ่น และตั๊กเขามีความสวยอย่างคนไทยมาก ยิ่งพอใส่สไบแต่งเป็นไทยขึ้นมาก็ตรงกับที่คิดไว้เลย ที่สำคัญเขาต้องเล่นตั้งแต่สาวจนกระทั่งอายุ 40-50 ซึ่งตั๊กก็ทุ่มเทกับการซ้อมมากจนเข้าถึงตัวน้าวาดได้อย่างน่าประทับใจ ตอนแรกเรียกมาดูตัวเพราะไม่เคยทำงานด้วย แล้วมาออดิชั่นเขาเป็นคนเดียวที่ใกล้เคียงกับบทนี้มาก เข้าใจด้วยว่าที่มันจะต้องมีเลิฟซีนและยินยอมพร้อมใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นความยากสำหรับตั๊กเนี่ย พอเล่นบทตอนสาวน้อยมากแค่สิบเปอร์เซ็นต์ในเรื่อง นอกนั้นก็เล่นเป็นน้า ซึ่งเป็นน้าของจันที่เรียบร้อยมาก เป็นกุลสตรี เก็บความลับทั้งหมดเอาไว้ในตัว ปิดปากไม่แพร่งพรายใด ๆ จะเล่นยากมากเพราะส่วนใหญ่จะเล่นเป็นคนสูงอายุเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ทำได้ดีมากและตั้งอกตั้งใจมาก เพราะเป็นบทของตัวละครที่สำคัญมากที่เก็บความลับในชีวิตของจันดาราเอาไว้ ชาติกำเนิดของจันดาราแท้ ๆ คืออะไร น้าวาดเป็นคนที่เก็บเรื่อง เป็นคนที่ล่วงรู้ แล้วก็บทน้าวาดเนี่ยเป็นบทที่ส่งมาเพื่อปกป้องจันดาราจากภัยที่จะเกิดจากคุณหลวง ที่ต้องการยึดสมบัติของครอบครัวพิจิตรวานิช ซึ่งจันดาราเป็นทายาทที่เหลือคนเดียว เพราะฉะนั้น น้าวาดจะถูกส่งตัวมาเพื่อปกป้องชีวิตจันดารา ซึ่งเล่นยากมาก เขาต้องเล่นไม่ให้คุณหลวงรู้ด้วยว่าเขามา จริง ๆ แล้วมันคือสายลับ ซึ่งเขาก็ต้องยอมและเสียตัวให้คุณหลวงเพื่อจะรักษาชีวิตจันดาราตั้งแต่เด็ก ๆ บทนี้เป็นบทที่เล่นค่อนข้างซับซ้อนมากแล้วตอนจบของเรื่องเนี่ยเขาเลี้ยงจันดารามาจนโต แล้วจันดารามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่เด็กที่ใสสะอาด เป็นเด็กที่กลับมาเพื่อจะแก้แค้นและก็ได้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นจนน้าวาดทนไม่ได้เลย

Jandara

          คาแรคเตอร์ของ "คุณบุญเลื่อง" ก็จริง ๆ แล้ว เป็นตัวละครที่เราแคสติ้งไว้หลายคนทีเดียว เพราะเป็นบทที่ถูกตีความใหม่ให้เป็นศิลปินแม่ม่ายชาวภูเก็ตแต่ไปโตที่ประเทศฝรั่งเศสและก็มีสังคมเป็นชาวต่างประเทศ จะเป็นฝรั่งมาก เพราะฉะนั้นบทของคุณบุญเลื่องเลยมีสีสันต่างจากตัวละครผู้หญิงในเรื่องซึ่งเป็นคนไทย คุณบุญเลื่องเวอร์ชั่นนี้จะรักการแต่งตัวมาก จะแฟชั่นจ๋ามาก และก็เป็นศิลปิน เป็นนักดนตรี เป็นนักวาดรูป ร้องเพลงเก่ง เปียโนเก่ง เต้นรำเก่ง มันก็มีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างที่ต้องเลือกคนที่เหมาะจริง ๆ เพราะฉะนั้นในการเลือก "หญิง รฐา" มารับบทนี้ก็จะเหมาะที่สุด และก็ด้วยวัยจริง ๆ เขาอายุไม่ค่อยเยอะ แต่ว่าหญิงสามารถ่ายทอดบทบาทของหญิงวัยสี่สิบได้อย่างเหลือเชื่อ

Jandara

          ส่วน "พิ้งกี้" ต้องเล่นเป็นสองคาแรคเตอร์ หนึ่งคือ "ไฮซินธ์" บทระบุไปเลยว่าเป็นผู้หญิงมุสลิมและสวยมาก เราเห็นว่าไฮซินธ์เนี่ยเป็นนางในดวงใจของจันดาราตั้งแต่เขาเจอกันที่โรงเรียน มันเป็นความรักบริสุทธิ์มาก ๆ รักมากโดยไม่มีกามารมณ์มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เป็นแรงบันดาลใจให้จันมีชีวิตอยู่ เป็นเหมือนกับวิหารทางใจของจัน เพราะที่บ้านเนี่ยเต็มไปด้วยกามารมณ์ เต็มไปด้วยการชิงอำนาจ มีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง มันแย่จากในบ้าน แต่ว่าไฮซินธ์มันเหมือนที่พักทางใจของจัน ก็เลยเห็นว่าพิงกี้เนี่ยเหมาะที่สุดที่จะมารับบทนี้ ก็เลยเชิญมาออดิชั่นและฝีมือการแสดงเขาสูงมากทีเดียวถึงขั้นระดับอินเตอร์ก็ว่าได้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าบทไฮซินธ์อย่างเดียวมันจะง่ายไปหรือเปล่าสำหรับเขา ก็เลยเพิ่มบทให้เขาอีกบทนั่นคือบท "ดารา" แม่ของจันที่เสียชีวิตหลังจากคลอดจันออกมา บทของดาราก็เป็นบทที่สำคัญมาก ในนวนิยายพูดไว้ว่า \'ผู้หญิงสองคนที่จันรักอย่างบริสุทธิ์\' เพราะฉะนั้นมันเลยมีความเหมือนกันอยู่ในแง่ของตัวละคร คือเราพยายามคิดว่าทำไมจันดาราถึงรักไฮซินธ์อย่างบริสุทธิ์มันต้องมีความเป็นอะไรเหมือนแม่อยู่ ก็เลยให้คน ๆ เดียวกันเล่น ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นคนละคาแรคเตอร์เลย ซึ่งเขาก็เล่นได้ดีและแตกต่างมาก

Jandara

          บท "คุณแก้ว" เนี่ย พูดได้ว่าเป็นบทที่แรงที่สุดในเรื่องนี้นะครับ คือเธอมีจิตใจที่เปราะบางทีเดียว คือมีปมของการที่แม่ไม่รัก ตัวเองก็รักพ่อมากและก็ได้รับอิทธิพลความคิดความอ่านจากพ่อไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อใส่หัวตั้งแต่เด็กว่าให้เกลียดจันและก็ถ่ายทอดเลือดของพ่อมาเยอะ คือเป็นคนที่เจ้าอำนาจบาตรใหญ่มาก และก็มีความวิปริตทางจิตค่อนข้างสูง เป็นผู้หญิงที่รุนแรงมากทางด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันยากมากสำหรับนักแสดงไทยที่จะถ่ายทอดตรงนี้ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฉากอีโรติกซึ่งค่อนข้างสำคัญมากสำหรับหนังเรื่องนี้ ก็เลยคิดว่านักแสดงไทยคงไม่กล้าเล่นแน่ ๆ ก็เลยตัดสินใจใช้นักแสดงญี่ปุ่น "โช นิชิโนะ" ซึ่งเธอก็รู้สึกว่าเป็นบทที่ยากและท้าทายสำหรับเธอมากที่จะเล่นเป็นคนไทย ซึ่งแต่เดิมเราบอกว่าพูดญี่ปุ่นก็ได้และเดี๋ยวให้คนอื่นมาพากย์ทับ แต่แกกลับบอกว่าแกอยากจะพูดเป็นภาษาไทยแล้วคนที่มาพากย์แทนแกจะได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นคนที่มีสปิริตและทุ่มเทในการซ้อมมากแม้จะเป็นช่วงเวลาที่น้อยนิดที่เราเจอกัน เราก็ขอชื่นชมในสปิริต ซึ่งสามารถพูดได้ว่าเขาเป็นนักแสดงมืออาชีพระดับสากลจริง ๆ คือถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักแสดง AV แต่ว่าบ้านเขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติมากและดาราญี่ปุ่นหลาย ๆ คนก็เกิดจากเอวีทั้งนั้น แต่ว่าโชก็สามารถเล่นได้ทุกอย่างเป็นมือโปรจริง ๆ และเขาเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ความเป็นคนไทยอย่างมาก และเราก็โชคดีมากที่ได้ "นัท มีเรีย" ที่ไม่ใช่แค่มาให้เสียงเท่านั้น แต่ต้องถือว่านัทก็เหมือนแสดงเป็นคุณแก้วเลย เข้าใจบทเท่า ๆ กับที่โชเข้าใจ ต้องใส่วิญญาณของคุณแก้วเข้าไปในภาพของโช ซึ่งสำหรับนัทเองก็เป็นบทที่ยากสำหรับเขามาก จริง ๆ แล้วเหมือนเล่นสองคนนะครับบทนี้ แสดงโดย "โช มิชิโนะ" และ "นัท มีเรีย" ซึ่งนัทก็สามารถถ่ายทอดได้เหมือนราวกับเป็นคน ๆ เดียวกัน แต่พูดภาษาไทยได้ชัดกว่าเท่านั้นเอง

จันดารา

          ส่วนบทของ "คุณท้าวพิจิตรรักษา" แสดงโดย "รัดเกล้า อามระดิษ" ก็จะเป็นบทที่เราได้มีการดัดแปลงขึ้นมา เพราะในบทประพันธ์จะเป็นคุณตา เราคิดว่าน่าจะเป็นผู้หญิงมากกว่าก็เลยดัดแปลงเป็นคุณท้าวยาย ซึ่งเป็นคุณป้าของดารา พิจิตรวานิชแม่ของจัน เป็นผู้อาวุโสมากที่สุดในบ้านพิจิตรวานิช ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวละครตัวนี้แหละเป็นตัวละครที่สร้างปมปัญหาต่าง ๆ ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งในบทบาทสำคัญนี้จะหนัก ต้องใช้นักแสดงที่เล่นได้อย่างมีพลัง ซึ่งรัดเกล้าเป็นนักแสดงคุณภาพที่พิสูจน์ฝีมือแล้วจากอุโมงค์ผาเมืองนะครับ ซึ่งถ่ายทอดบทผู้หญิงแก่ที่หลงอำนาจและก็ตัดสินใจบางอย่างผิด ๆ ไป และก่อให้เกิดหายนะต่อคนรอบข้างได้อย่างน่าสะพรึงกลัวทีเดียว

โปรดักชั่นงานสร้าง

          ความยากมันอยู่ที่บ้านพิจิตรวานิชหรือบ้านวิสนันท์ที่ดำเนินเรื่องแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกบ้านที่เหมาะสมที่สุด และเป็นเรื่องของชนชั้นสูง เนื้อเรื่องทั้งหมดเนี่ยเป็นเรื่องชนชั้นสูง ไม่ใช่เรื่องของคนชั้นกลาง เป็นคนระดับสูงระดับศักดินา เพราะฉะนั้นในการเลือกบ้านมันก็จะยากเลยทีเดียว ในด้านอาร์ตไดเร็คชั่น ในแง่โลเกชั่นตัวบ้าน ตัวฉากเสื้อผ้า เครื่องประกอบฉาก มันต้องสะท้อนชีวิตคนชั้นสูง ในสังคมของคนชนชั้นสูงในที่นี้คือ ในยุคเดิมของคนมีการศึกษาด้วย ต้องมีชาติตระกูล มีการศึกษาซึ่งไม่ควรที่จะทำอะไรที่มันเป็นตัณหา ราคะ กิเลสหรืออะไรที่ไม่ดี มันก็จะยากในการเลือกโลเกชั่นมาก เสื้อผ้าก็จะยากเพราะว่าคอสตูมเรื่องนี้เป็นถึงสี่รัชกาล เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าก็จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะทำไปแล้วมันเหนื่อยมากงานมันละเอียดมาก เพราะว่างานละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยทำมา อย่างใน "ชั่วฟ้าดินสลาย" ก็แค่พีเรียดเดียว "อุโมงค์ผาเมือง" ก็พีเรียดเดียวแท้ ๆ เลย

          แต่เรื่องนี้มันต้องสี่สมัยเลย เนื่องจากดำเนินเรื่องตั้งแต่จันดาราเกิดตั้งแต่รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2457) จนถึงปัจจุบันเนี่ย เพราะฉะนั้น ในแง่ฉาก เครื่องประกอบฉาก การแต่งกายมันเป็นไปตามยุคสมัย แม้กระทั่งทรงผม เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องศึกษาอย่างละเอียดและทำงานกันหนักมาก และเรื่องส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบ้านพิจิตรวานิชก็จะต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไปตามเสื้อผ้าและแบบผม มันยากมาก ยากกว่าที่คิดมาก ๆ มันเป็นเรื่องของรายละเอียดทุกเรื่อง แม้กระทั่งในแง่การแสดง ตัวละครต้องเปลี่ยนอายุ นิสัยก็เปลี่ยนไปด้วยเพราะฉะนั้นคนเล่นจะเล่นยากมาก เปลี่ยนไปตามวัย เปลี่ยนไปตามความคิด จริง ๆ แล้วเนี่ยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจของประเทศก็มีผลต่อตัวละครอีก เขาต้องเข้าใจว่ายุคนั้นนะประเทศมีอะไรอยู่ มีสงครามโลกอยู่หรือเปล่า มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองด้วย มีสงครามโลกครั้งที่สองด้วย มีสงครามกลางเมืองด้วย คนเล่นก็ต้องเข้าใจ มันเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

จันดารา

          เราก็ได้โปรดักชั่นดีไซเนอร์มืออาชีพระดับอินเตอร์อย่าง "คุณแป๊ะ พัฒน์ฑริก มีสายญาติ" ที่เคยร่วมงานกันจากอุโมงค์ผาเมือง ได้ "คุณโจ้ อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์" จากร้าน Surface มาเป็นผู้ดีไซน์เสื้อผ้า และก็ได้ "อาจารย์มนตรี วัดละเอียด" มาควบคุมการแต่งหน้าและทรงผม ทุกคนจะทำงานกันหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งหน้าเนี่ยก็ต้องเปลี่ยนไปตามวัย 4 สมัย 4 รัชกาล ต้องแต่งหน้าให้มาริโอ้และนิวซึ่งยังเด็ก ๆ ยี่สิบกว่าเองให้เป็นคนอายุเจ็ดสิบกว่า ก็เป็นงานที่หนักที่สุดเท่าที่เคยทำมา และก็มีฉากใหญ่ที่ท้าทายในการถ่ายทำมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ต้องจำลองภาพสมัยยุครัชกาลที่ 7 มีฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีฉากเครื่องบินมาถล่มกรุงเทพฯ และก็มีฉากงานเลี้ยงต่าง ๆ มากมาย อันนี้ก็ต้องศึกษาเยอะและก็เป็นงานที่ใหญ่มากเกินกว่าที่คิด

          ทางด้านโลเกชั่นหลัก เราถ่ายอยู่ที่บ้านสังคหะวังตาลของหลวงสิทธิเทพการ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และก็มีบางส่วนที่ไปถ่ายทำที่สระบุรี กาญจนบุรี และก็ที่กรุงเทพฯ การหาโลเกชั่น Outdoor นั้นยากมาก มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะฉะนั้นการทำงานจะยากตรงที่ว่าตรงไหนที่จะต้องหลบไอ้สิ่งทันสมัยต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาช่วย เพราะว่ามันยากตรงที่แต่ละยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลงไปมากด้วย

          ส่วนด้านดนตรีประกอบเนี่ย เราก็ได้ "คุณชาติชาย พงศ์ประภาพันธ์" ซึ่งก็ร่วมงานกันมาเมื่อตอนอุโมงค์ผาเมือง มาทำเพลงประกอบด้วยความอลังการมาก คือเนื่องจากเรื่องดำเนินใน 4 ยุค 4 สมัย ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ของประเทศมากมาย มีการชิงอำนาจกันในบ้าน มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอำนาจในประเทศจนถึงระดับโลก เพราะฉะนั้นดนตรีประกอบจึงสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาซึ่งมีทั้งความยิ่งใหญ่ ความเจ็บปวด ความรัก ความเศร้า มีการแก้แค้นอยู่ในนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะอันน่าสะเทือนอารมณ์ของมนุษย์ แต่ก็มีฉากที่เป็นสีสันความสนุกของเรื่องอย่างฉากร้องเพลง "เมื่อไหร่จะให้พบ" ในงานเลี้ยง ซึ่งขับร้องโดย "หญิง รฐา โพธิ์งาม" กับ "ศักราช ฤกษ์ธำรงค์" ซึ่งแต่งคำร้องโดย "แก้ว อัจริยะกุล" และแต่งทำนองโดย "หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์" ซึ่งเป็นเพลงฮิตในยุคนั้นมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ฉากอีโรติกเป็นเรื่องสำคัญ แต่มีเรื่องสำคัญกว่า ที่มิอาจมองข้าม


          คือโดยแท้แล้วเนี่ย ถ้ามองในลักษณะผิวเผิน อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้โดยผิวเผิน ความเด่นมันจะอยู่ที่การกล้านำฉากอีโรติกหรือฉากสังวาสมาเขียนเป็นวรรณกรรม แต่ว่าในหนังสือท่านใช้ภาษาที่เพราะมากเหลือเกิน แต่ว่าโดยแท้แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าถ้าข้ามฉากเหล่านี้ไป กลับพบสิ่งที่สำคัญกว่าคือสาเหตุการกระทำของมนุษย์ สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่ามีพฤติกรรมด้านบวกหรือลบนั่นเอง สาเหตุนั้นก็เป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เด่นของจันดารากลับกลายการสร้างตัวละครอย่างเหมือนมนุษย์มาก โดยยึดหลักของ "ซิกมันด์ ฟรอยด์" คือการสร้างตัวละครที่มีปมอิดิปุสและเซ็กส์ไดร์ฟ คือแรงขับดันทางเพศ ซึ่งไม่ได้สื่อถึงเรื่องกามารมณ์อย่างเดียว เป็นตัวกำหนดที่ทำให้เรามีพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าบวกหรือลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครจันดาราเนี่ย "ครูประมูล อุณหธูป" ได้สร้างสรรค์ตัวละครอย่างน่าสนใจมาก คือเกิดมาก็ไม่เคยเห็นหน้าแม่เลย และก็บังเอิญบ่าวในบ้านนั้นก็ไม่มีใครมีน้ำนมเลย ก็โดนเลี้ยงโดยนมผง ซึ่งคนที่กินนมผงได้ก็คือลูกเศรษฐีเท่านั้น มันทำให้เขาไม่เคยได้สัมผัสกับทรวงอกของแม่เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นความที่เขาอยากได้ความอบอุ่นจากผู้หญิง ซึ่งในที่นี้เนี่ยไม่ใช่ว่าเห็นทรวงอกของผู้หญิงแล้วมีความรู้สึกทางเพศอันนั้นไม่ใช่ มันเลยกลายเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยสัมผัสเลย เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้เนี่ยจะมีฉากที่มีหน้าอกมากมาย เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั้นเอง ที่นี้ในความเป็นจริงเนี่ยธรรมชาติสร้างหน้าอกผู้หญิงมาเพื่ออะไร หรือไม่ใช่แค่ผู้หญิงนะ สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายเนี่ยมันก็เพื่อเลี้ยงทารก เลี้ยงมนุษย์ให้มีชีวิตนั่นเอง

จันดารา

          ผมคิดว่าในประเด็นนี้ ท่านพูดถึงทรวงอกผู้หญิงอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่จะเป็นในเชิงกามารณ์ อาจจะเป็นเพราะเราชินกับภาพยนตร์ที่มีฉากอีโรติกเหล่านี้ ทั้งภาพยนตร์ฮอลลีวูด ญี่ปุ่น เกาหลีหรืออะไรก็ตามมันทำให้เราชินว่าหน้าอกของผู้หญิงเป็นสื่อทางกามารณ์ การเข้าถึงแก่นแท้จริง ๆ คือทำความเข้าใจว่าหน้าอกของผู้หญิงมีไว้เพื่ออะไร หรือว่าจะพูดถึงอวัยวะสืบพันธุ์มีไว้เพื่ออะไร เพื่อที่จะเอาไว้ขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์นั่นเอง จริง ๆ มันเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์นะ มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาเล่น Just for Fun มันไม่ใช่เรื่องสนุก การมีเพศสัมพันธ์แท้ ๆ เนี่ย คือการเกิดมนุษย์ก่อให้เกิดชีวิต อันนี้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้เกิดมาเป็นคนเหมือนเราท่านทุกวันนี้

จันดารา

          แต่ทีนี้เรากลับไปมองเรื่องนี้ผ่านสื่อที่เป็นภาพยนตร์หรือบทในเชิงเซ็กส์เนี่ย มันเลยทำให้เรากลายเป็นคิดในเชิงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสนุก หรือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น โดยแท้แล้วมันมีความหมายมาก อย่างที่บอกเรื่องนี้จะพูดถึงฉากเหล่านี้อย่างมีความหมายมาก บางคนใช้เรื่องเซ็กส์หรือเรื่องเพศเนี่ยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อการแสวงหาอำนาจ บางคนใช้ในการต่อรอง บางคนใช้เพื่อสนุก บางคนใช้เพื่อแสดงความรัก หรือว่าบางคนทำไปเพื่อต้องการมีทายาท คือฉากอีโรติกเรื่องนี้เราหนีไม่ได้เลย มีมากมายทีเดียวอันนี้ต้องยอมรับโดยความเป็นจริง แต่ละฉากเนี่ยนำเสนอออกมาอย่างมีความหมายต่างกัน เพื่อให้เห็นว่าเราจะมองฉากเหล่านี้เป็นเพียงมุมเร้าใจตัณหาราคะอย่างเดียวนั้นมันคือการมองโลกในแง่เดียว ให้มองอีกหลาย ๆ มุม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรื่องนี้พูดถึงเนี่ย คือความเป็นมนุษย์มากกว่า ความเป็นคนมากกว่า และก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์มีสัญชาตญาณในการแสวงหาอำนาจมากและรักตัวเองมาก และก็เมื่อมีอำนาจแล้วก็ไม่อยากสูญเสียไป และก็ใช้อำนาจไปในเชิงทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ แล้วท้ายที่สุดแล้วเนี่ยก็จะพบกับจุดจบหรือหายนะอย่างในเรื่อง ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้มากกว่าฉากอีโรติกมากมายนัก

สร้างเป็นสองภาค (ปฐมบท-ปัจฉิมบท) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิง


          ภาพยนตร์เรื่องนี้มีรายละเอียดเนื้อหาและตัวละครมากมายที่มีความสำคัญเท่า ๆ กันหมด เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดเนื้อเรื่องหรือตัวละครตัวใดหนึ่งออกมันยาก เพราะทุกตัวละครมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนและสะท้อนนิสัยซึ่งกันและกัน เรื่องมันจึงยาวมาก มีเหตุการณ์พลิกผันไปมาตลอด คือตัวละครจันดาราเป็นตัวเดินเรื่องก็จริง แต่ตัวอื่น ๆ รอบข้างก็มีปูมหลังและเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน พล็อตมันจะพลิกผันไปมาตลอด เรียกว่าเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ได้เลย เพราะว่าเล่าเรื่องผ่านสี่ยุคสมัย แต่ละสมัยก็มีรายละเอียดทางด้านอารมณ์ เหตุผล และความสนุกเกี่ยวเนื่องกันจึงไม่สามารถตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกได้ มันก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเป็นสองภาค ภาคหนึ่งคือ "ปฐมบท" คือวัยเด็กตั้งแต่จันดาราเกิดจนถึงวัยสิบเจ็ด และภาคสองคือ "ปัจฉิมบท" วัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ยี่สิบจนถึงสี่สิบห้าสิบ โดยจะยังคงเนื้อหาสาระและความบันเทิงอย่างเต็มอิ่มเอาไว้ทั้งสองภาค ไม่ได้มีการยืดเพื่อให้เป็นสอง ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ยังไงผมก็จะรักษาสาระและความสนุกของเรื่องเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด ถ้าได้ชมภาพยนตร์ก็จะเข้าใจดีว่ามันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ซึ่งภาคแรกปิดกล้องเรียบร้อยแล้ว พร้อมฉาย 6 กันยายนนี้ ส่วนภาคสองกำลังอยู่ระหว่างการสร้างครับ



  ดูหนัง หนังใหม่ โปรแกรมหนัง หนังตัวอย่าง คลิกเลย


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หม่อมน้อย ผู้กำกับ จันดารา ปฐมบท ตีแผ่โศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2555 เวลา 15:15:08 5,440 อ่าน
TOP