พาไปรู้จักกับ 4 โรงเรียนในหนัง 4KINGS ทั้ง 2 ภาค

          ย้อนรอยยุคเด็กช่างกับ 4 สถาบัน โรงเรียนอาชีวะดังจากหนัง 4KINGS อาชีวะ ยุค 90's ทั้ง 2 ภาค ได้แก่ กนกอาชีวศึกษา, อินทรอาชีวศึกษา, เทคโนโลยีประชาชล (เทคโนโลยีประชาชื่น) และช่างกลบูรณพนธ์

          4KINGS อาชีวะ ยุค 90's เป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอาชีวะ กับเรื่องราวที่เล่าถึงการผ่านชีวิตของนักเรียนอาชีวะกลุ่มหนึ่งในบ้านเรา ที่มีความเชื่อและความศรัทธาในสถาบันการศึกษาของพวกเขาเป็นอย่างมาก หรือที่หลายต่อหลายคนเรียกติดปากว่า "เด็กช่าง" โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นระบบที่พวกเขารักษาไว้มาได้เป็นอย่างดีถึงจะเรียนจบแล้วก็ตาม และแม้ว่าในปัจจุบันนี้สถาบันดังกล่าวทั้งหมดจะปิดตัวไปแล้ว แต่สมัยก่อน 4 สถาบันดังกล่าวนี้ได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท สร้างวีรกรรมกันอยู่บ่อยครั้ง วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปรู้จักกับ 4 โรงเรียนในหนัง 4KINGS อาชีวะ ยุค 90's ไปดูกันว่ามีที่ไหนบ้าง ตามมาดูกันเลย

พาไปรู้จักกับ 4 โรงเรียนในหนัง 4KINGS ทั้ง 2 ภาค

1. โรงเรียนกนกอาชีวศึกษา

           ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยนายกนก ลี้อิสสระนุกูล เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2508 ตั้งอยู่เลขที่ 143 ซอยจันทน์ 43 ถนนจันทน์ (ซอยวัดไผ่เงิน) แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 3 ไร่ 5 ตารางวา จำนวนอาคารเรียน 2 หลัง ประกอบด้วย ตึกขนาด 3 ชั้น 1 หลัง และตึกขนาด 2 ชั้น 1 หลัง มีจำนวนห้องเรียน 19 ห้องเรียน สอนแผนกพาณิชยการ และในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2508 ได้ทำการเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนกนกอาชีวศึกษา เป็นโรงเรียนช่างกลกนกอาชีวศึกษา และเพิ่มเติมหลักสูตรแผนกช่างกล เปิดทำการจนถึงปี พ.ศ. 2539 โดยกนก 31 คือรุ่นสุดท้าย ปัจจุบันเปิดเป็นโรงเรียนพาณิชย์ชื่อโรงเรียนสารสาสน์บริหารธุรกิจกนกศิริอนุสรณ์

2. โรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา

          ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2470 อยู่ที่ตรอกพระยาสุนทร หัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียนเอกชนชื่อโรงเรียนอินทรศึกษา โดยมีอาจารย์ชอบ อุทัยเฉลิม เป็นเจ้าของและครูใหญ่ เปิดสอนสายสามัญ สถานที่ตั้งอยู่ในทำเลสงบเงียบ กลางซอยมหาดเล็กหลวง 2 ถนนราชดำริ ใกล้สี่แยกราชประสงค์ เปิดสอนสายอาชีวะ แผนกช่างก่อสร้าง โดยมีอาจารย์กอบชัย อุทัยเฉลิม เป็นอาจารย์ใหญ่ และมีอาจารย์ชอบ อุทัยเฉลิม เป็นผู้อำนวยการ

          หลังจากนั้นโรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ในซอยเก๋งชวน บริเวณซอยสวนพลู และย้ายอีกครั้งมาอยู่ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยวัดดาวดึงษ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และถูกปิดจากคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2539 โดยอินทรเป็นรุ่นสุดท้าย

3. โรงเรียนเทคโนโลยีประชาชื่น

          โรงเรียนเทคโนโลยีประชาชื่น ตั้งอยู่ที่ถนนเทศบาลนิมิตเหนือ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เดิมโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนสามัญ ชื่อโรงเรียนประชาชื่นวัฒนา เปิดสอนระดับอนุบาล ต่อมาในปีการศึกษา 2523 ทางโรงเรียนได้เปลี่ยนเป็นสายอาชีพ ประเภทช่างอุตสาหกรรม สาขาช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม ชื่อโรงเรียนเทคโนโลยีประชาชื่นปิดตัวลงจากคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ และเปิดสอนใหม่อีกครั้งในชื่อโรงเรียนวราธิปบริหารธุรกิจ

4. โรงเรียนเทคนิคบุรณพนธ์ (เดิมชื่อโรงเรียนช่างกลบุรณพนธ์)

           โรงเรียนเทคนิคบุรณพนธ์ (เดิมชื่อโรงเรียนช่างกลบุรณพนธ์) ย่านบางนา เยื้องกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลซิตี้ บางนา เป็นโรงเรียนช่างกลหนึ่งเดียวของเมืองไทยที่มีเครื่องแบบที่เท่ที่สุดในยุค มียูนิฟอร์มเป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีฟ้า กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน รองเท้าสีขาว เช่น คอนเวิร์ส อาดิดาส ไนกี้ เสื้อช็อปสีขาว เสื้อพละสีน้ำเงินคอปกวีคาดขาว-แดง
4KINGS มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

          ทั้งนี้ หนัง 4KINGS อาชีวะ ยุค 90's เป็นเรื่องราวที่สร้างมาจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับ พุฒิ พุฒิพงษ์ นาคทอง ที่เรียบเรียงมาจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับเขาสมัยเรียนที่เขาและเพื่อนได้สัมผัสกับตัวมา โดย ผู้กำกับพุฒิ กล่าวว่า "เรื่องราวที่ผมเขียนอ้างอิงชื่อโรงเรียน ชื่อตัวละคร และเรื่องราวของบุคคลจริง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงประมาณ 20% นอกนั้นเป็นเรื่องราวของผมทั้งหมดที่ได้เจอตอนเรียนอาชีวะ โดยเป็นเรื่องที่เกิดกับตัวผมและเพื่อนผม เป็นสิ่งที่พวกผมได้สัมผัสมาจริง ๆ แล้วมาเล่าต่อให้ฟังกัน โดยปัจจุบันสถาบันทั้งหมดได้ปิดตัวหมดแล้ว สมัยก่อน 4 สถาบันนี้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันจริงอยู่บ่อยครั้ง แต่โปรเจกต์นี้กลับเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิษย์เก่าจากทั้ง 4 สถาบันนี้กลับมาสานความสัมพันธ์กันใหม่อีกครั้ง จนเกิดเป็นงานฟุตบอลประเพณี 4KINGS ขึ้นมาในชีวิตจริง"

4KINGS 2 มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
หนัง 4KINGS ภาค 2

          เรื่องย่อ 4 Kings2 เป็นการปะทะของ 2 อริต่างสถาบัน กนก และ บุรณพนธ์ เริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนหนึ่ง ตุ้มเม้ง กนก (ท็อป ทศพล) ถูกดักทำร้ายร่างกายจนปางตาย บ่าง กนก (แหลม สมพล) เตรียมการหวังแก้แค้น คู่อริต่างสถาบัน เอก บุรณพนธ์ (ทู สิราษฎร์) และ รก บุรณพนธ์ (จี๋ สุทธิรักษ์) เมื่อความแค้นที่ถูกสะสมได้เวลาเอาคืน บ่าง และ รก เผชิญหน้ากัน โดยมี ยาท เด็กบ้าน (บิ๊ก ดี เจอร์ราร์ด) เป็นตัวแปรที่จุดชนวนครั้งใหญ่ เพิ่มอุณหภูมิความเดือดในการล้างแค้นครั้งนี้
ทู สิราษฎร์ เป็น เอก บุรณพนธ์

แหลม สมพล เป็น บ่าง กนก

จี๋ สุทธิรักษ์ เป็น รก บุรณพนธ์

           และหากใครที่คาดหวังว่าจะเป็นหนังยกพวกตีรันฟันแทงกันทั้งเรื่องอาจจะต้องผิดหวัง เพราะหนังเรื่องนี้เน้นไปในเรื่องดราม่าของตัวละครเด็กอาชีวะใน 4 สถาบันหลัก ประกอบด้วย ดา อินทร รับบทโดย เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ, บิลลี่ อินทร รับบทโดย จ๋าย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี, มด ประชาชล รับบทโดย โจ๊ก อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ และ รูแปง อินทร รับบทโดย ภูมิ รังษีธนานนท์ ซึ่งโปรดิวเซอร์ของเรื่องมีความตั้งใจว่าอยากให้ผู้ชมมองไปถึงเจตนาของหนัง อยากให้คนได้เข้าไปดูหนังจริง ๆ ก่อน อย่าเพิ่งเหมารวมกันไปว่านี่เป็นหนังเด็กช่างตีกันเอาความบันเทิง เพราะเจตนาที่แท้จริงที่หนังเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง คือการอยากให้พวกเขาเลิกตีกัน แต่บอกตรง ๆ ก็คงไม่ได้ ดังนั้นการใส่ฉากตีกันเข้ามาจึงเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่จะนำไปสู่แง่คิดในเวลาต่อมา
ภาพจาก หนัง 4KINGS ภาค 2

บิ๊ก ดี เจอร์ราร์ด เป็น ยาท เด็กบ้าน

เบนจามิน โจเซฟ เป็น เค บุรณพนธ์

แม็ก เจนมานะ เป็น หนุ่ย กนก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก 4kings อาชีวะ ยุค 90
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พาไปรู้จักกับ 4 โรงเรียนในหนัง 4KINGS ทั้ง 2 ภาค อัปเดตล่าสุด 4 ธันวาคม 2566 เวลา 13:25:51 287,851 อ่าน
TOP
x close