เรื่องราวการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชน ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมจากระบบการเมืองการปกครองที่เน่าเฟะ กลายเป็นผลสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและการเปลี่ยนผ่านในยุคต่าง ๆ พล็อตเรื่องที่มีทั้งความเศร้า การสูญเสีย ความกดดัน การต่อสู้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต่างถูกหยิบยกมานำเสนอในโลกของภาพยนตร์ ไปดูกันว่าการต่อสู้เหล่านั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรได้บ้าง
เพราะสิทธิเสรีภาพคือสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนควรมี แต่ในยุคก่อนนั้นความเท่าเทียมเหล่านี้อาจจะยังไม่ปรากฏชัดนัก ทำให้เกิดการเรียกร้องต่าง ๆ เพื่อสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ในโลกของภาพยนตร์ก็มักจะหยิบเรื่องราวการเมืองเก่า ๆ เหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง ๆ ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ที่กว่าเราจะได้มีความเท่าเทียมกันนั้นวันนี้ต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง อย่างที่บอกว่าอยากให้ชมเพื่อความบันเทิง และเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่า มิได้เจตนาจะนำพาไปสู่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งนะคะ #อรรถรส
1. Gandhi (1982)
สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ คานธี ผู้บุกเบิกและเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรได้สำเร็จ แต่ตัวเขาเองต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกผู้คลั่งศาสนาลอบสังหาร หนังเล่าให้เห็นถึงการต่อสู้แบบสันติวิธีมีอหิงสาเป็นที่ตั้ง ซึ่งในการประท้วงเหล่านี้มีประชาชนอินเดียเข้าร่วมนับแสนถึงหลายล้านคน ความเดือดร้อนจากการประท้วงของคานธีมีน้อยมาก มีประชาชนเพียงไม่กี่ร้อยคนที่ประท้วงแบบไม่สันติ แต่รัฐบาลอังกฤษที่พยายามรักษาอำนาจหาทางจับกุมตัวคานธีในทุกวิถีทาง และพยายามทำลายภาพลักษณ์ของคานธี หลายครั้งหลายหนที่คานธีถูกจับกุมก็มีประชาชนลุกฮือจนเกิดเหตุจลาจลระดับประเทศ และการต่อสู้เรียกร้องอันยาวนานกว่า 40 ปี ก็จบลงเมื่อรัฐบาลออกประกาศใน ค.ศ. 1945 ว่าจะให้เอกราชอินเดียทันทีที่ชาวอินเดียหารัฐบาลของตนได้ คงเหลือเพียงความขัดแย้งในประเทศระหว่างชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม กับอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งกว่าจะได้เอกราชแบบสมบูรณ์ก็ปี ค.ศ. 1947 นั่นเอง
2. The Last Emperor (1987)
เล่าเรื่องราวของผูอี้ (ปูยี) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแผ่นดินจีน ตั้งแต่เกิดจนก้าวลงจากบัลลังก์มังกร กลายเป็นสามัญชนธรรมดา เนื่องจากการปฏิวัติจีนปี 1911 และการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงคอมมิวนิสต์ ซึ่งสาเหตุของการปฏิวัติครั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากการโกงกินในสมัยปลายราชวงศ์หมิง จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว ถึงแม้ว่าหนังจะไม่ได้นำเสนอเรื่องราวการปฏิวัติตรง ๆ แต่ก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงอีกด้านของประวัติศาสตร์จากการถูกยึดอำนาจ จักรพรรดิผูอี้ เติบโตภายใต้กำแพงสูง ผู้ซึ่งไม่รู้เลยว่าโลกภายนอกกำแพงหนานั้นกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกับชีวิตของเขาไปตลอดกาล แน่นอนว่าเนื้อหาในหนังเรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจากเรื่องจริง และเล่าตามประวัติศาสตร์เพื่อบอกให้คนรุ่นหลังได้รู้เรื่องราวการปฏิวัติในครั้งนี้
3. Braveheart (1995)
อีกหนึ่งหนังเรียกร้องอิสรภาพที่ตราตรึงใจคนดูไม่น้อยสำหรับ Braveheart วีรบุรุษหัวใจมหากาฬ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ วิลเลียม วอลเลซ ผู้ก่อกบฏชาวสก็อต เขาเป็นผู้นำในการปฏิวัติเพื่อต่อต้านผู้ปกครองของอังกฤษผู้โหดร้ายที่ชื่อ เอ็ดเวิร์ด เดอะ ลองแชงค์ ซึ่งปรารถนาที่จะสวมมงกุฎกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ เมื่อวิลเลียมยังเป็นเด็ก พ่อและพี่น้องของเขารวมทั้งคนอื่น ๆ อีกมากมายต้องสละชีวิตในการปลดปล่อยดินแดนแห่งสกอตแลนด์ให้เป็นอิสระ ดังนั้นเขาจึงมุ่งมั่นเพื่ออิสรภาพแห่งแผ่นดินบ้านเกิดของเขาแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไรก็ตาม และเขาก็ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง วิลเลียมยังได้รับการสนับสนุนจาก โรเบิร์ต เดอะ บรูซ อีกด้วย เรียกว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวแห่งการเรียกร้องได้อย่างทรงพลังเลยทีเดียว
4. 14 ตุลา สงครามประชาชน (2001)
สร้างจากเรื่องจริงของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และภรรยา จิระนันท์ พิตรปรีชา อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 เป็นผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล หยิบเอาชีวประวัติของทั้งคู่มาตีแผ่เรื่องราวก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบาน เล่าถึงเหตุการณ์หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นับเป็นการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชนจนได้รับชัยชนะ โดยประเด็นหลักของเรื่องคือ พวกเขา ซึ่งเป็นแกนนำ ต้องหนีภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลไทยเข้าป่าไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กว่าจะออกมาจากป่าได้ก็ปาเข้าไปปี พ.ศ. 2524
5. V for Vendetta (2005)
เพชฌฆาตหน้ากากพญายม หนังสร้างจากการ์ตูนชื่อเดียวกันที่นำเสนอเรื่องราวของ วี นักสู้เพื่อเสรีภาพ ผู้พยายามจุดชนวนการปฏิวัติต่อระบอบฟาสซิสต์ และทำให้หน้ากากสีขาวมีหนวดแสยะยิ้มของ วี กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองไปโดยปริยาย ซึ่งหนังพูดถึงเรื่องราวของ อีวี ที่ได้รับการช่วยชีวิตจากความเป็นความตายโดยชายในหน้ากาก ที่รู้จักกันเพียงในนาม "วี" ผู้ชายผู้อุทิศชีวิตให้กับการปลดปล่อยประชาชนร่วมชาติจากพวกที่กดขี่โหดร้ายและคอร์รัปชันโกงกิน เขาเคลื่อนไหวเชิญชวนผู้คนให้ร่วมมือกับเขาภายใต้เงาของอาคารรัฐสภาในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวัน กาย ฟอว์กส์ เดย์ วันแห่งการการระลึกถึงการกบฏพวกกาย ฟอว์กส์ เมื่อปี 1605 และเหตุการณ์ในวันนั้น วีได้สาบานที่จะสานต่อแผนการที่ฟอว์กส์ถูกประหารเพราะความพยายามของเขา ซึ่งนั่นคือ...เขาจะระเบิดอาคารรัฐสภา เมื่ออีวีได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับภูมิหลังที่ลึกลับของ วี เธอยังได้พบความจริงเกี่ยวกับตัวเองอีกด้วย และกลายมาเป็นสหายที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ของเขาในการบรรลุถึงแผนการที่จะนำมาซึ่งอิสรภาพและความยุติธรรม สู่สังคมที่ถูกครอบงำไปด้วยความโหดเหี้ยมและคอร์รัปชัน
6. Milk (2008)
หนังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางสิทธิและโอกาสให้กับทุก ๆ คน โดยเป็นคนแรกที่ได้ชัยชนะจากการประท้วงและทำประชามติเพื่อต่อต้านนโยบาย Proposition 6 ที่มีเนื้อหากีดกันไม่ให้ครูที่เป็นเกย์เข้าทำงานในสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯ ซึ่งหลังจากดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาระยะหนึ่ง เขาถูก แดน ไวท์ นักการเมืองหัวรุนแรงที่มีความคิดต่าง ยิงในระยะเผาขน พร้อมกับนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก วิกเตอร์ การ์เบอร์ ซึ่งหลังจากพิจารณาคดี เขาได้รับโทษจำคุกเพียง 7 ปี ด้วยข้อแก้ต่างว่าวิกลจริตชั่วขณะ อันเนื่องมาจากความซึมเศร้า
7. 1911 (2011)
หนังแนวประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ ครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติซินไฮ่ และครบเรื่องที่ 100 ของการแสดงของเฉินหลง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติซินไฮ่ หรือการปฏิวัติ 1911 หรือการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติซึ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน เหตุที่ชื่อว่าการปฏิวัติซินไฮ่ เพราะมีขึ้นในปี 1911 ซึ่งตรงกับอักษรซินไฮ่ในแผนภูมิสวรรค์ในปฏิทินจีน โดยการนำของ ดร.ซุน ยัตเซ็น ซึ่งรับบทโดย วินสตัน เชา และ เฉินหลง รับบทเป็น นายพลหวงซิ่ง ที่มีส่วนในการช่วยเหลือ ดร.ซุน ยัตเซ็น และเป็นหนึ่งในผู้นำก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง โดยนายพลหวงซิ่งได้รับกำลังใจและแรงใจที่ดีจากผู้หญิงที่อยู่เคียงข้างเขามาตลอดอย่าง ซูจงฮั่น ที่รับบทโดย หลี่ ปิงปิง ออกฉายเมื่อปี 2011
8. Les Miserables (2012)
หนังที่อ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งฝรั่งเศสก่อนที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบาน ในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคที่กษัตริย์ข่มเหงประชาชน ทำให้เกิดเรื่องราวการเรียกร้องความเท่าเทียมและการปฏิวัติต่อสู้ของภาคประชาชน โดยวรรณกรรม Les Miserables เขียนโดย วิคเตอร์ ฮูโก กวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับความนิยม ถูกหยิบมาเล่าใหม่หลายครั้งในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นละครเวที ละครบรอดเวย์ และภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ตัวหนังเล่าเรื่องราวของ ฌอง วาลฌอง หนุ่มใจบุญที่ถูกจับเข้าคุกเพราะขโมยขนมปังเพื่อนำไปจุนเจือครอบครัวของเขา หลังจากถูกจำคุกยาวนานถึง 19 ปี เขาก็ได้รับการปล่อยตัวอีกครั้ง และได้เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของตนเองคืน ในขณะที่ ชาแวร์ ตำรวจผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง ออกตามล่าตัว วาลฌอง เพื่อจับเข้าคุกในฐานะผู้ก่อความวุ่นวายต่อต้านรัฐบาล ส่วน ฟองติน หญิงสาวอาภัพผู้ยอมทำทุกอย่างแม้แต่การขายตัว เพื่อเลี้ยงลูกสาวตัวน้อยของเธอให้อยู่รอด และได้ฝากลูกน้อยไว้ให้ วาลฌอง ช่วยดูแลต่อเมื่อเธอจะจากโลกนี้ไป เรียกได้ว่าเป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม
9. The Hunger Games (2012-2015)
จากเปลวไฟดวงเล็ก ๆ พร้อมที่จะเผาไหม้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม... แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้กลายเป็นเครื่องหมายการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียอย่างนั้น กับฉากชู 3 นิ้วเพื่อสนับสนุนความเคลื่อนไหวของ แคทนิส โดยหนังสร้างจากวรรณกรรมเยาวชน 3 เล่มจบ ที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยในโลกอนาคตที่อารยธรรมล่มสลายจนต้องรวมทุกประเทศไว้ภายใต้กฎแห่งแคปปิตอล และทั่วโลกถูกแบ่งเป็น 12 เขต ทุกปีจะมีเด็ก 24 คน จาก 12 เขตที่ถูกคัดเลือก ให้ต้องเข่นฆ่ากันเพื่อเอาชีวิตรอดเป็นคนสุดท้ายในเกมการแข่งขันแบบถ่ายทอดสดที่ใช้ชื่อว่า The Hunger Games โดยผู้ชนะจะทำให้เขตของตนได้รับรางวัลมีกินมีใช้ไปตลอดทั้งปี แต่เกมปีนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนับตั้งแต่วันแรกที่ผู้เข้าแข่งขันจากเขต 12 อาสาขอเข้าแข่งขันแทนน้องสาวของเธอ นับตั้งแต่นาทีนั้นความหมายที่แท้จริงของการต่อสู้จึงเริ่มต้นขึ้น
10. Snowpiercer (2013)
หนังว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างชนชั้นบนรถไฟขบวนสุดท้ายที่กำลังวิ่งฝ่าความหนาวเหน็บที่ปกคลุมโลกทั้งใบโดยไม่มีจุดหมาย โดยหนังเรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีล่าสุด (Parasite ชนชั้นปรสิต) บงจุนโฮ โดยตัวหนังเล่าถึงช่วงเวลาในปีคริสต์ศักราช 2031 เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอย่างแท้จริง การใช้ชีวิตก็ยากขึ้น ผู้คนเลยต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดบนรถไฟที่ออกเดินทางรอบโลกอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งในจุดที่ยากลำบากที่สุดก็ยังมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและการแบ่งชั้นวรรณะ ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือรถไฟขบวนนี้เปรียบเสมือนเรือโนอาห์ดี ๆ นี่เอง ผู้กำกับบงจุนโฮยังคงลายเซ็นของตัวเองไว้อย่างชัดเจนในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีในเรื่องการแบ่งชนชั้น ความเท่าเทียม และสังคมทุนนิยม แน่นอนว่าหนังได้กระแสตอบรับที่ดีจนถูกหยิบมาขยายความในฉบับซีรีส์ที่ฉายบนแพลตฟอร์ม Netflix
11. 12 Years a Slave (2013)
หนังสร้างจากเรื่องจริงในยุค 1841 กับเรื่องราวของ โซโลมอน นอร์ธัป เสรีชนชาวนิวยอร์ก มีอาชีพเป็นนักดนตรีผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวโอลิน ที่ถูกลักพาตัวในวอชิงตัน ดี.ซี. และถูกขายเป็นทาส ต้องทำงานในโรงฝ้ายในรัฐลุยเซียนาเป็นเวลา 12 ปี เขาไม่ได้แค่ต้องพยายามเอาชีวิตรอดท่ามกลางการปฏิบัติราวกับไม่ใช่คนเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาศักดิ์ศรีของตัวเองเอาไว้ ก่อนจะไม่เหลืออะไรเลย จนกระทั่งได้พบกับผู้รณรงค์การปลดปล่อยทาสชาวแคนาดา ที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล
12. Selma (2014)
หนังแนวดราม่าย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์อเมริกันเกี่ยวกับ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้มีแนวทางการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยแนวทางสันติวิธี เป็นผู้นำขบวนเดินเท้าจากเมืองเซลมาไปยังเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา ใช้เวลายาวนานกว่า 3 สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน ลงนามในกฎหมายให้คนผิวดำในสหรัฐอเมริกามีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งในปี 1965
เป็นอย่างไรกันบ้างกับหนังการเมือง ที่ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชนที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ เชื่อว่าเรื่องราวจากหน้าประวัติศาสตรคงจะสร้างความตระหนักรู้ให้ได้บ้างไม่มากก็น้อย