แนะนำหนังไทยเรื่องเยี่ยมหลากหลายแนวที่ได้รับผลตอบรับดีเกินคาดในวงการหนัง จนไปเตะตาผู้จัดต่างแดน และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำในเวอร์ชั่นต่างประเทศ
วงการหนังไทยได้สร้างผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยหนังไทยหลายเรื่องไม่เพียงได้รับความนิยมในประเทศเท่านั้น แต่ยังดึงดูดความสนใจจากผู้สร้างหนังต่างชาติที่ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปสร้างใหม่ในเวอร์ชั่นของตนเอง หรือที่เรามักจะเรียกว่า ฉบับรีเมก นั่นเป็นการยืนยันถึงคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ของหนังไทยที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าประทับใจและเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก ส่วนจะมีหนังไทยเรื่องอะไรบ้างที่ประสบความสำเร็จในระดับสากล จนถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปสร้างเป็นฉบับรีเมกในหลายประเทศ กระปุกดอทคอมรวบรวมมาฝากเพื่อน ๆ แล้ว ดังนี้
เปิดลิสต์หนังไทย
ที่ถูกต่างชาติหยิบไปรีเมก
1. บางกอก แดนเจอรัส (2000) / Bangkok Dangerous (2008)
ภาพจาก : เว็บไซต์ Thai Movie Database
ภาพจาก : เว็บไซต์ Movies & TV on Google Play
บางกอกแดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบ อันตราย หนังไทยผลงานการกำกับเรื่องแรกของ 2 พี่น้องตระกูลแปง ออกไซด์ และ แดนนี แปง เล่าเรื่องราวของ ก้อง (แบงค์ ปวริศร์ มงคลพิสิฐ) หนุ่มพิการที่ทั้งเป็นใบ้และหูหนวก ทำให้เขาเก็บตัวอยู่ในโลกเงียบ ๆ ตามลำพัง จนกระทั่ง โจ้ (ต้น พิเศก อินทรครรชิต) มือปืนคนหนึ่ง ได้มาเห็นฝีมือการยิงปืนที่แม่นยำของก้อง จึงชักชวนให้เขาเข้าสู่วงการนักฆ่า ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของก้องไปตลอดกาล หนังเรื่องนี้สามารถกวาดรางวัลทุกสถาบันในปีที่เข้าฉาย รวมถึงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง จนไปเข้าตาต่างชาติ และได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัท Saturn Films เพื่อนำมาสร้างใหม่ในเวอร์ชั่นฮอลลีวูด ในชื่อเรื่องเดิมว่า Bangkok Dangerous โดยได้พี่น้องแปงเป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ, ชาคริต แย้มนาม, เป้ย ปานวาด และนักแสดงชาวฮ่องกง หยาง ไฉ่นี ออกฉายในปี 2008
2. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) / Shutter (2008)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เว็บไซต์ 20th Century Fox
หนังผีไทยระดับตำนานที่สร้างความหลอนจนกลายเป็นปรากฏการณ์สุดสะพรึงเสียวสันหลัง และเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์จากผู้ชมทั่วประเทศ ผลงานการสร้างของ จีเอ็มเอ็ม ไท หับ (จีทีเอช) กำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ บรรจง ปิสัญธนะกูล เรื่องราวของ ธรรม์ (อนันดา เอเวอริงแฮม) ช่างภาพหนุ่ม ซึ่งพบว่ารูปจำนวนมากที่เขาถ่ายได้มีแสงเงาประหลาดรวมถึงภาพที่ดูคล้ายใบหน้าของผู้หญิงปะปนอยู่ ภายหลังจากคืนที่เขาและแฟนสาวบังเอิญประสบอุบัติเหตุขับรถชนหญิงสาวนิรนาม ซึ่งเมื่อร่วมกันออกค้นหาความจริง พวกเขาก็ได้พบเบื้องหลังอันน่าสะพรึงกลัวของดวงวิญญาณที่ยังคงตามอาฆาต
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ถือเป็นหนังผีไทยที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ด้วยการนำเรื่องราวของรูปถ่ายติดภาพวิญญาณซึ่งเป็นเรื่องลี้ลับยอดนิยมของผู้คนในสังคมมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง สอดแทรกด้วยเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน และเมื่อปมทุกอย่างคลายออกมาก็ทำเอาคนดูตัวชา หน้าชา และเสียวต้นคอไปตาม ๆ กัน นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคภาพและเสียงเพื่อปลุกเร้าและเขย่าขวัญคนดูอย่างเต็มที่ จนส่งผลให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ด้วยรายได้ที่ทำได้เกินกว่า 100 ล้านบาท ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างสูงในระดับนานาชาติ ได้รับรางวัลภาพยนตร์เอเชียยอดเยี่ยม (Best Asian Film) จากเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาเซีย ปี 2005 (Fantasia Film Festival 2005) ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และรางวัลหนังแฟนตาซีที่ดีที่สุดในงานเทศกาลศิลปะมหัศจรรย์ของเจอราร์ดเมอร์ (Fantastic's Arts Festival of Gerardmer) ประเทศฝรั่งเศส
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
หนังเรื่องนี้ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์นำไปสร้างใหม่ในฉบับต่างประเทศถึง 3 เวอร์ชั่น ได้แก่
-
เวอร์ชั่นฮอลลีวูด : Shutter (2008) กำกับโดยมาซายูกิ โอชิไอ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น นำแสดงโดย โจชัว แจ็กสัน, เรเชล เทย์เลอร์ และ เมงูมิ โอกินะ
-
เวอร์ชั่นบอลลีวูด (อินเดีย - ทมิฬ) : Sivi (2007) กำกับโดย K. R. Senthil Nathan นำแสดงโดย Yogi, Jayashri Rao และ Anuja Iyer
-
เวอร์ชั่นบอลลีวูด (อินเดีย - ฮินดู) : Click (2010) กำกับโดย Sangeeth Sivan นำแสดงโดย Shreyas Talpade, Sadha Sayed, Sneha Ullal, Rehan Khan และ Chunky Pandey
3. 13 เกมสยอง (2006) / 13 Sins (2014)
ภาพจาก : เว็บไซต์ สหมงคลฟิล์ม
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก 13 Sins
หนังไทยแนวระทึกขวัญที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง 13th Quiz Show ตีพิมพ์ในหนังสือการ์ตูน รวมเรื่องสั้นจิตหลุด (My Mania) ของ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ผลงานการกำกับของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล บอกเล่าเรื่องราวของ ภูชิต พึ่งนาทอง (น้อย วงพรู) เซลส์แมนต๊อกต๋อยที่กำลังจะตกงานจากการขายของไม่ได้ตามเป้า แถมถูกคนรักทิ้ง ท่ามกลางภาระหนี้สินและการแบกรับครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง ด้วยความกดดันต่าง ๆ ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อชั้นดีที่ถูกดึงให้เข้ามาร่วมเล่นเกมสยองที่มีกติกาให้เขาต้องทำในชีวิตจริง กับโจทย์ 13 ข้อ แต่ละข้อที่เขาทำสำเร็จไปได้ เขาก็จะได้เงินสะสมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าหากเขาทำผิดเงื่อนไขอย่างการบอกข้อมูลเกี่ยวกับเกมให้คนอื่น หรือหยุดเล่น ทุกอย่างจะเป็นโมฆะทันที ทำให้เขาต้องทำภารกิจที่วัดระดับศีลธรรมและท้าทายความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่
ภาพจาก : เว็บไซต์ สหมงคลฟิล์ม
13 เกมสยอง เป็นหนังไทยอันดับต้น ๆ ในใจของใครหลายคนอยู่ไม่น้อย ด้วยภารกิจที่ค่อย ๆ ไต่ระดับความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ใจหนึ่งคนดูก็คงอยากให้ภูชิตทำภารกิจทั้งหมดให้สำเร็จ แต่อีกใจหนึ่งก็อาจจะรู้สึกตงิดอยู่ลึก ๆ ว่าที่เขาทำอยู่นั้นถูกต้องตามหลักศีลธรรมแล้วหรือ หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังที่มีพล็อตแปลกประหลาดอย่างมาก และก็ได้รับความสนใจจากแฟนหนังทั้งไทยและต่างชาติ จนมีการซื้อลิขสิทธิ์จากทางฮอลลีวูดไปสร้างในชื่อ 13 Sins ในปี 2014 โดยการกำกับของ Daniel Stamm ที่เคยมีผลงานการกำกับคุณภาพอย่าง The Last Exorcism นำแสดงโดย Mark Webber, Devon Graye, Tom Bower และ Rutina Wesley
4. แฝด (2007) / Alone (2015)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Alone
หนังผีไทยที่มีพล็อตเรื่องสุดหักมุม ผลงานการกำกับของ โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล และ โอ๋ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ นำแสดงโดย มาช่า วัฒนพานิช เรื่องราวของ พิมและพลอย ฝาแฝดสาวที่ช่วงตัวติดกัน ทั้งสองเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแยกออกจากกัน และ พิม คือผู้รอดชีวิต เธอเดินทางกลับมาไทยเพื่อดูแลแม่ที่ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อเธอกลับมาถึงบ้านหลังเก่าก็เริ่มมีความผิดปกติและเห็นวิญญาณของพลอย ฝาแฝดที่ตายไปแล้ว แต่เรื่องราวในตอนท้ายกลับหักมุมจนคนดูอึ้งไปตาม ๆ กัน
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
แฝด เป็นหนังผีไทยที่สร้างบรรยากาศความน่ากลัวได้อย่างถึงพริกถึงขิง เล่นกับอารมณ์คนดูตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนถึงจุดท้ายสุดที่มีการหักมุมชนิดที่คนดูเหวอกันไปทั้งโรง และด้วยความเอาอยู่ของนักแสดงนำอย่าง มาช่า วัฒนพานิช ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ตัวหนังทำรายได้รวม 67.5 ล้านบาท จนไปเข้าตาบริษัททำหนังของต่างประเทศ และได้รับการซื้อลิขสิทธิ์นำไปรีเมกใหม่ถึง 2 เวอร์ชั่น ได้แก่
-
เวอร์ชั่นบอลลีวูด (อินเดีย - ทมิฬ) : Chaarulatha (2012) กำกับโดย Pon Kumaran นำแสดงโดย Priyamani และ Skanda Ashok
-
เวอร์ชั่นบอลลีวูด (อินเดีย - ฮินดู) : Alone (2015) กำกับโดย Bhushan Patel นำแสดงโดย Bipasha Basu และ Karan Singh Grover
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
5. คิดถึงวิทยา (2014) / Notebook (2019)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
หนังไทยฟีลกู๊ดที่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจสุด ๆ โดยมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง และโรงเรียนกลางน้ำในเรื่องก็เป็นสถานที่จริง คือ โรงเรียนบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ ริมลำน้ำปิง เหนือเขื่อนภูมิพล ในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร เรื่องราวของ สอง (บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) ที่ได้มาเป็นครูที่โรงเรียนเรือนแพแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องเดินทางโดยใช้เรือเท่านั้น และปัญหาใหญ่ของเขาก็คือ การที่เด็กนักเรียนไม่ค่อยสนใจครูอย่างเขาเลยสักนิด ทำให้สองรู้สึกท้อจนกระทั่งได้ไปพบสมุดบันทึกของ แอน (พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) หญิงสาวที่ถูกส่งมาเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้ก่อนหน้าที่สองจะมาโดยที่เธอไม่เต็มใจนัก อย่างไรก็ตาม เธอก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เด็ก ๆ ที่นี่เปิดใจยอมรับเธอได้ และนั่นทำให้สองมีกำลังใจมากขึ้นในการเป็นครูสอนที่นี่ จนกระทั่งเวลาผ่านไป ในที่สุดแอนก็ได้กลับมาที่โรงเรียนเรือนแพอีกครั้ง ในขณะที่สองออกจากโรงเรียนไปแล้ว และแอนก็ได้เห็นว่าบันทึกของตัวเองถูกเขียนเพิ่มเติมเรื่องราวด้วยลายมือของสอง มิตรภาพของทั้งคู่จึงเกิดขึ้นผ่านบันทึกเล็ก ๆ เล่มนี้
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
คิดถึงวิทยา เป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่ได้รับการตอบรับอย่างดี เป็นหนังไทยเรื่องแรกในปี 2014 ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท พร้อมทั้งเข้าชิงรางวัลมากมาย และยังได้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกด้วย จนกระทั่งถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นบอลลีวูด เรื่อง Notebook ออกฉายในปี 2019 ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ Nitin Kakkar นำแสดงโดย Zaheer Iqbal และ Pranutan Bahl
6. ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ (2014) / Love You... Love You Not (2015)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก MVP Entertainment ID
หนังไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ เน้นสายขำแบบไร้สาระ ของค่าย GTH ผลงานการกำกับของ เมษ ธราธร เจ้าของผลงาน เอทีเอ็ม เรื่องราวความรักที่หยิบเอาความบกพร่องทางการสื่อสารระหว่างภาษามาเป็นประเด็นสำคัญ ตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวของ เพลง (ไอซ์ ปรีชญา พงษ์ธนานิกร) ติวเตอร์ภาษาอังกฤษสาว ที่ต้องพบกับเรื่องราวอันสุดแสนจะน่าปวดหัวเมื่อต้องมานั่งแปลคำพูดของลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นที่ต้องการบอกเลิกกับ ยิม (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) วิศวกรระบบ โดยยิมไม่รู้ภาษาอังกฤษ เมื่อยิมรู้ว่าถูกบอกเลิกก็รู้สึกเฮิร์ตมาก ผสมกับอารมณ์โมโห จึงบังคับให้เพลงสอนภาษาอังกฤษตัวเองบ้าง เพื่อที่จะได้สอบสัมภาษณ์ไปทำงานที่อเมริกาเพื่อง้อขอคืนดีแฟนสาว ส่วนเพลงก็กำลังตกหลุมรักกับ พฤกษ์ (ตู่ ภพธร สุนทรญาณกิจ) ไฮโซหนุ่มผู้ซึ่งเป็นดั่งชายในฝันของผู้หญิงทุกคน ที่ปลอมตัวมาเป็นนักเรียน ในที่สุดทั้งเพลงและพฤกษ์ตกลงเป็นแฟนกัน แต่ในระหว่างนั้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเพลงและยิมก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ จากที่เคยเป็นคู่กัดกันในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งคู่กลับเริ่มผูกพันและเริ่มมีใจให้กันทีละน้อยโดยไม่ทันรู้ตัว
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
หนังหยิบประเด็นการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยมาเล่าในมุมที่สนุกสนานขำขันแฝงไปด้วยความโรแมนติกเล็กน้อย ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ชมอินไปกับอารมณ์ของตัวละครได้ไม่ยากเย็นนัก และนั่นทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังที่ทำรายได้เปิดตัววันเดียวสูงสุดกว่า 29 ล้านบาท และสามารถทำรายได้ตลอดกาลเข้าฉายถึง 330 ล้านบาท พร้อมทั้งได้เข้าฉายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนถูกนำไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย ในชื่อ Love You... Love You Not ออกฉายปี 2015 กำกับโดย Sridhar Jetty นำแสดงโดย Chelsea Islan และ Hamish Daud
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก MVP Entertainment ID
7. แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2016) / I Remember (2020)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Fivestarmovies
หนังไทยแนวโรแมนติก-ดราม่า จากค่าย GDH ผลงานการกำกับของ โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับพันล้านจากภาพยนตร์เรื่อง พี่มากพระโขนง เรื่องราวของ เด่นชัย (เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) พนักงานออฟฟิศแผนกไอที ที่มีนิสัยไม่ค่อยเป็นมิตร ไม่เอาใคร และไม่มีใครเอา เพราะสกิลปากหมายืนหนึ่ง เขาดันไปตกหลุมรัก นุ้ย (มิว นิษฐา จิรยั่งยืน) หญิงสาวที่ร่าเริง ยิ้มง่าย ทำงานอยู่แผนกมาร์เกตติ้งในออฟฟิศเดียวกัน เด่นชัยพยายามแอบมองและจดจำทุกรายละเอียดของนุ้ยตลอดเวลาที่อยู่ที่ทำงาน เขารู้เรื่องของนุ้ยทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องที่หญิงสาวปกปิดเป็นความลับ วันหนึ่งบริษัทพาพนักงานไปเที่ยวฮอกไกโด และนุ้ยประสบอุบัติเหตุความจำเสื่อม 1 วัน เด่นชัยเลยสวมรอยเป็นแฟนและหวังพานุ้ยเที่ยวอย่างที่เธอตั้งใจไว้ ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้นุ้ยจะลืมทุกอย่าง แต่เด่นชัยก็เต็มใจและมีความสุขที่จะได้เป็นแฟนกับเธอเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
เรื่องราวความรักของดอกฟ้ากับหมาวัดเรื่องนี้ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ของปี 2016 นั่นคือกว่า 111 ล้านบาท และยังคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 มาได้ถึง 2 รางวัลใหญ่ นั่นคือ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม อีกทั้งยังทำให้เพลง ฝันลำเอียง ของ แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ กลับมาฮิตอีกครั้ง หลังจากถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบหนังด้วย และแน่นอนว่ากระแสหนังไทยดังขนาดนี้ ต้องมีต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกแน่นอน โดยได้มีการสร้างเวอร์ชั่นจีนออกมาในชื่อ I Remember รักกันแค่วันเดย์ ออกฉายในปี 2020 กำกับโดย หนาน โจว นำแสดงโดย หลี่ หงฉี และแองเจล่าเบบี้ ซึ่งได้เข้ามาฉายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Fivestarmovies
8. ฉลาดเกมส์โกง (2017) / Bad Genius (2024)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Mongkol Major
หนังไทยแนวจารกรรม-ระทึกขวัญ กำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้มีชื่อเสียงจากผลงาน เคาท์ดาวน์ นำแสดงโดย ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ชานน สันตินธรกุล, อิษยา ฮอสุวรรณ และ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ เรื่องราวของนักเรียนชั้นมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งที่คิดหารายได้จากการโกงข้อสอบระดับนานาชาติ ซึ่งหนังอ้างอิงจากเหตุการณ์โกงข้อสอบ SAT Reasoning Test ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน มาใช้เป็นเค้าโครงเรื่อง ตัวหนังสร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ให้แก่วงการหนังไทย จนสามารถคว้ารางวัลบนเวทีรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ มากที่สุดถึง 12 รางวัล อีกทั้งทำรายได้ตลอดการเข้าฉายถึง 113 ล้านบาท และได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์ฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์เอเชียนิวยอร์ก (New York Asian Film Festival - NYAFF) ครั้งที่ 16 ณ สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงนำไปสร้างเป็นเวอร์ชั่นซีรีส์ในชื่อ ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ ออกฉายในปี 2020 อีกด้วย
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก GDH
สำหรับ Bad Genius หรือ ฉลาดเกมส์โกง เวอร์ชั่นฮอลลีวูด ได้ J.C. Lee นั่งแท่นผู้กำกับ และร่วมเขียนบทกับ Julius Onah นำแสดงโดย Benedict Wong, Taylor Hickson และ Jabari Banks โดยดัดแปลงให้เข้ากับบริบทสังคมอเมริกันมากยิ่งขึ้น และมีการเสียดสีระบบการศึกษาของอเมริกาอีกด้วย ตัวหนังมีกำหนดเข้าฉายวันที่ 12 กันยายน 2567
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Mongkol Major
หนังไทยที่ต่างชาติซื้อลิขสิทธิ์นำไปสร้างเป็นฉบับรีเมก เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จของหนังไทยที่สะท้อนถึงคุณภาพ เนื้อหา และเอกลักษณ์ของหนังไทย ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมในระดับสากลได้อย่างน่าประทับใจ หนังเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่นิยมในประเทศไทย แต่ยังสร้างชื่อเสียงของหนังไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีโลกอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง